สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ไทย-ภาครัฐลาว บรรลุข้อตกลง

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  ไทย-ภาครัฐลาว บรรลุข้อตกลงสนับสนุนชดเชยการทำลายแม่พันธุ์สุกรติดเชื้อในแขวงสาละวัน และสนับสนุนยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่ม

27 มิถุนายน 2562 ด่านช่องเม็ก อุบลราชธานี – การร่วมประชุมกรมปศุสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เจ้าหน้าที่กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว บรรลุข้อตกลงความร่วมมือดำเนินงานการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

โดยเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่าง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กับ แผนกกสิกรรม และป่าไม้ แขนงเลี้ยงสัตว์และการประมง แขวงสาละวันสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่าง นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กับ ปริญญาเอกบุนลอด จันทะจอน รองหัวหน้าแผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงสาละวันสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นผู้แทน โดยร่วมมือในเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานการทำลายสุกรซากสุกรที่ติดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เห็นพ้องต้องกันระหว่างสองฝ่าย ณ อาคารด่านพรมแดน ศุลกากรช่องเม็ก วันที่ 27 มิถุนายน 2562

โรค ASF ลาว ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2562 จำนวน 7 จุด 7 ตำบลในเมืองตุ้มลาน แขวงสาละวัน  ตอนใต้ของ สปป.ลาว มีจำนวนสุกรรวม 2,191 ตัว ป่วย 973 ตายทั้งหมด 973 ตัวโดยฟาร์มที่ติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในเมืองตุ้มลาน เป็นการเลี้ยงหลังบ้านแบบปล่อย เปิดคอกกินอาหารตามบ้านเรือน ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ


ใน สปป.ลาว มีผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจสุกรรวม 4 ราย เป็นผู้ประกอบการในภาคอีสาน 1 ราย บริษัทเวชภัณฑ์ 1 ราย บริษัทเกษตรครบวงจร 2 ราย จากการตรวจสอบผู้ประกอบการไทยทั้งหมด ยังไม่มีการติดเชื้อ ASF แต่ประการใด

แขวงสาละวันตั้งอยู่ตอนใต้ของ สปป. ลาว

  • ทิศเหนือติดกับแขวงสะหวันนะเขต
  • ทิศใต้ติดกับแขวงจำปาสัก
  • ทิศตะวันออกติดกับแขวงเซกอง และจังหวัดเถื่อเทียนเว้ เวียดนาม
  • ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดอุบลราชธานี

การแบ่งเขตการปกครอง 8 เมือง ได้แก่ สาละวัน ละคอนเพ็ง คงเซโดน เหล่างาม ตุ้มลานตะโอ้ย สะม่วย วาปีมีพื้นที่ทั้งหมด 10,691 ตร.กม. แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตภูเขา (เมืองตะโอย และสะม่วย) คิดเป็นร้อยละ 40 ของเนื้อที่แขวงฯ พื้นที่ค่อยๆ ลาดชัน จึง เหมาะสมแก่การปลูกไม้อุตสาหกรรม ไม้ผล กาแฟ และเลี้ยงสัตว์ใหญ่

เขตที่สูง (เมืองเหล่างาม) คิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่แขวงฯ เหมาะสำหรับการปลูกกาแฟ เร่ว (หมาก แหน่ง) กล้วย ถั่วดิน ถั่วเหลือง มะเดื่อ ผักเมืองหนาว ฝ้าย และไม้ผล

เขตที่ราบ (เมืองสาละวัน เมืองวาปี เมืองตุ้มลาน เมืองคงเซโดน และเมืองละคอนเพ็ง) คิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่แขวงฯ เป็นทุ่งกว้าง อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าว พืชตระกูลถั่ว ประมง

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีแผนงานที่จะร่วมประชุมในลักษณะนี้กับภาครัฐของกัมพูชาเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานจากภาครัฐของไทย โดยการเฝ้าระวังป้องกันของไทยหลังเป็นวาระแห่งชาติ จะมีการร่วมมือกันกับทุกระดับของกองกำลัง โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นประธาน War Room โดยกรมปศุสัตว์กำหนด 16 จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร เลย อุตรดิตถ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีอำนาจเจริญ สระแก้ว จันทบุรี และตราด

Visitors: 395,716