หลักการจัดการพ่อสุกรพันธุ์ ที่มีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อ

หลักการจัดการพ่อสุกรพันธุ์ ที่มีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อ

โดย ณัฐธกรณ์  บุญอยู่ นักวิชาการสุกรอาวุโส

          ดัชนีการผลิตตัวแรกที่ใช้ในการวิเคราะห์ความผิดปกติ ในกระบวนการควบคุมคุณภาพน้ำเชื้อได้แก่ เปอร์เซ็นต์แม่สุกรกลับสัด แม้ว่าการกลับสัดตรงรอบ (กลับสัด 18-24 วันหลังผสม) อาจเกิดได้จากหลาย จากสาเหตุนอกเหนือจากคุณภาพน้ำเชื้อ เช่นการผสมแม่สุกรก่อนหรือหลังการเป็นสัดซึ่งเกิดจากการเช็คสัดไม่แม่นยำและปัญหาหนอง ดังนั้นการควบคุมคุณภาพน้ำเชื้อของฟาร์มจึงมีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มเป็นอย่างมาก ซึ่งทางฟาร์มควรหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของพ่อสุกรให้มากขึ้น และลดปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพน้ำเชื้อของพ่อสุกรเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาน้ำเชื้อด้อยคุณภาพ การจัดโปรแกรมรีดน้ำเชื้อ การเตรียมความพร้อมของพ่อสุกรก่อนรีดน้ำเชื้อ การตรวจสอบคุณภาพน้ำเชื้อ การทำละลายน้ำเชื้อ จนถึงการเก็บรักษาน้ำเชื้อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นสิ่งที่ทางฟาร์มต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยรายละเอียดในแต่ละประเด็นมีดังนี้

การคัดเลือกพ่อสุกรทดแทน

          1.  ขนาดครอก ต้องมาจากแม่สุกรที่ให้ลูกมีชีวิตไม่น้อยกว่า 11 ตัว และหย่านม 10 ตัวขึ้นไป

          2.  อัตราการเจริญเติบโตดี อายุ 154 วัน (5 เดือน) มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม

          3.  อัตราการแลกเนื้อดี ไม่เกิน 2.75 ที่น้ำหนัก 60-90 กิโลกรัม

          4.  ความหนาไขมันสันหลัง ไม่เกิน 25 มิลลิเมตร

          5.  เต้านมสมบูรณ์ มีเต้านมอย่างน้อย 12 เต้า ระยะห่างสม่ำเสมอ มี 3 คู่อยู่หน้าหนังหุ้มลึงค์

          6.  รูปร่างใหญ่ สมบูรณ์ แข็งแรง ลำตัวยาวลึกและสูง

          7.  ไม่มีลักษณะผิดปกติทางพันธุกรรม

          8.  คุณภาพซากได้มาตรฐาน

          9.  สุขภาพร่างกายแข็งแรง (กรณีซื้อจากภายนอกอาศัยประวัติ การป้องกันโรคของฟาร์ม)

การเตรียมพ่อสุกรทดแทน

          พ่อสุกรทดแทนที่รีดน้ำเชื้อใช้งาน ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 7.5 – 8 เดือน ซึ่งฟาร์มจะต้องนำพ่อสุกรทดแทนที่อายุ 5.5 – 6 เดือน ฝึกการขึ้นหุ่นรีดก่อนใช้งานจริง

          กักโรคพ่อสุกรทดแทน โดยแยกขังเดี่ยวเพื่อป้องกันกัดกัน เกิดบาดเจ็บ สร้างความคุ้มเคยกับคน การกักโรคพ่อสุกรทดแทนควรใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ โดยช่วงเดือนแรกให้นำอุจจาระแม่สุกรภายในฟาร์มสาดภายในคอกพ่อสุกรทดแทนเพื่อให้สัมผัสเชื้อและกระตุ้น การสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการ ลูกสุกรตายแรกคลอด มัมมี่ตัวอ่อนตายและไม่สมบูรณ์พันธุ์ กลุ่มอาการโรคดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “SMEDI” (Stillborn, Mummified fetus, Early Embryonic Death and Infertility)

          เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรฝึกพ่อสุกรทดแทนระหว่างการกักโรค สังเกตพฤติกรรมทางเพศ ฝึกรีดน้ำเชื้อและประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ การฝึกขึ้นหุ่นดัมมี่และรีดต้องทำด้วยความใจเย็นและระมัดระวังเพื่อไม่ให้พ่อสุกรบาดเจ็บระหว่างการฝึกเพราะอาจทำให้มีการเรียนรู้ที่ผิดจนทำให้การฝึกครั้งต่อไปทำได้ยากคอกฝึกควรอยู่ระหว่างคอกพ่อสุกรอื่น ๆ พ่อสุกรทดแทนควรนำออกมาฝึกรีดในคอกฝึก ควรรีดน้ำเชื้อก่อนให้อาหารหรือหลังให้อาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมงควรฝึกรีดน้ำเชื้อในช่วงที่อากาศเย็น ถ้าพ่อสุกรทดแทนขึ้นหุ่นดัมมี่ น้ำเชื้อที่รีดได้ให้ทิ้ง เนื่องจากน้ำเชื้อพ่อสุกรทดแทนช่วงแรกคุณภาพน้ำเชื้อต่ำ ถ้าพ่อสุกรทดแทนไม่สนใจหุ่นดัมมี่ นำแม่สุกรที่เป็นสัดมาขังรวมกับหุ่นดัมมี่ เมื่อพ่อสุกรปีนขึ้นแม่สุกรให้ดันพ่อสุกรทดแทนลงจากแม่สุกร และนำแม่สุกรออกไป พ่อสุกรทดแทนจะปีนขึ้นหุ่นดัมมี่ที่อยู่ในคอกแทน การประเมินคุณภาพน้ำเชื้อควรรีดออกมาทดสอบว่ามีคุณภาพน้ำเชื้ออย่างไร โดยเทียบกับค่ามาตรฐานดังแสดงในตารางที่ 1

          ถ้าน้ำเชื้อพ่อสุกรทดแทนที่รีดออกมามีคุณภาพต่ำกว่าค่าที่คาดหวังติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ให้ทำการหาสาเหตุของปัญหาหรือพิจารณาคัดทิ้งพ่อสุกรทดแทนตัวดังกล่าวออกจากฝูง หากพ่อสุกรทดแทนตรวจคุณภาพน้ำเชื้อผ่านแล้วหลังครบระยะกักโรค ให้ย้ายพ่อสุกรทดแทนเข้าหน่วยผลิตน้ำเชื้อได้

ตารางที่ 1 คุณภาพทางกายภาพของน้ำเชื้อพ่อสุกร


การจัดการโรงเรือน

  • พ่อสุกรควรแยกขังเป็นรายตัว
  • ขนาดคอกพ่อสุกรที่เหมาะสมคือ 2.5 x 2.5 เมตร พื้นคอกควรเป็นแสลตเพื่อลดการสะสมมูลภายในคอก ผนังคอกทุกคอกต้องทำเป็นแนวตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้พ่อสุกรปีนออกได้
  • รางอาหาร อยู่ด้านหน้าหรือบนพื้นคอนกรีต ขนาดของรางน้ำรางอาหารขนาด 30 เซนติเมตร
  • แต่ละคอกต้องมีนิปเปิลน้ำและรางอาหาร ตำแหน่งนิปเปิลน้ำต้องไม่อยู่ระดับเดียวกับถุงอัณฑะของพ่อสุกร เพราะอาจทำให้อัณฑะของพ่อสุกรบาดเจ็บได้
  • พื้นคอกควรเป็นพื้นแสลต ทำให้พื้นแห้งมีความชื้นน้อย ลดปัญหาการลื่นและการสะสมเชื้อโรค
  • อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับพ่อสุกร ควรอยู่ระหว่าง 24-29 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมที่สุดในการผลิตน้ำเชื้อ ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงดังกล่าว โรงเรือนต้องมีการระบายอากาศดี เพื่อลดการสะสมของแอมโมเนียและกลิ่นของพ่อสุกร
  • ความชื้นภายในโรงเรือน ต้องไม่เกิน 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเชื้อได้ พ่อสุกรจะได้รับผลกระทบเมื่ออุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงถึง 29 องศาเซลเซียสต่อเนื่องยาวนาน ทำให้น้ำเชื้อที่รีดออกมามีตัวอสุจิผิดปกติในระดับสูงขึ้น ทั้งหางผิดปกติและหยดน้ำเพิ่มสูงขึ้น
  • โรงเรือนที่เป็นระบบการระเหยของไอน้ำ (EVAP) จะสามารถควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนได้ดี

อาหารและโภชนะที่เหมาะสมกับพ่อสุกร

  • ปกติสุกรที่เลี้ยงเพื่อใช้ผสมจริง ผู้เลี้ยงมักจะจำกัดปริมาณอาหารที่ให้อาจมีเหตุผลที่ไม่ต้องการให้พ่อสุกรอ้วนเกินไป เพราะจะมีปัญหาเกี่ยวกับการขึ้นทับแม่สุกร ไม่สามารถขึ้นทับแม่สุกรที่ตัวเล็กได้และอายุการใช้งานสั้น ซึ่งการจำกัดอาหารอาจทำให้พ่อสุกรได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำเชื้อ อาหารที่ได้รับอาจเพียงพอต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ส่งผลทำให้การผลิตตัวอสุจิลดลง อัณฑะฝ่อลงและพบว่าอัตราการผสมติดและจำนวนลูกสุกรต่อครอกต่ำลง แต่ในการผสมเทียมนั้นพ่อสุกรปีนขึ้นหุ่นดัมมี่เพื่อรีดน้ำเชื้อ ไม่ต้องกลัวปัญหาเกี่ยวกับการขึ้นแม่สุกรที่ตัวเล็ก อาหารที่ให้พ่อสุกรควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนค่อนข้างสูงประมาณ 16-18 เปอร์เซ็นต์ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ ถ้าให้อาหารที่มีโปรตีนสูงกว่าอาหารที่ได้รับปกติการผลิตตัวอสุจิจะสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่ได้จากสัตว์ เช่น ปลาป่น เป็นต้น โดยปกติพ่อสุกรจะได้รับอาหารวันละประมาณ 2.5-3.0 กก.ต่อวัน ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของพ่อสุกร
  • การให้ไวตามินและแร่ธาตุเสริมมีความจำเป็นสำหรับพ่อสุกร เช่นกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำเชื้อ ไวตามิน ที่มีความสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ของพ่อสุกรได้แก่ ไวตามินเอ ไวตามินดี ไวตามินอี ไวตามินเค ถ้าได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ความเข้มข้นของตัวอสุจิลดลง ตัวอสุจิที่ความผิดปกติสูงขึ้น ความเป็นกรด-ด่างของน้ำเชื้อสูงและทำให้เก็บรักษาน้ำเชื้อไว้ได้ไม่นาน ไวตามินดี มีความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์และการดูดซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัส และไวตามินอี มีผลต่อการผสมติดหรือความสมบูรณ์พันธุ์ของพ่อสุกร แร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ ซีลีเนียม สังกะสี เป็นต้น
  • น้ำกินสำหรับพ่อสุกรต้องสะอาด พ่อสุกรต้องการกินน้ำเฉลี่ย 6 – 8 ลิตรต่อวัน โดยสามารถเปิดน้ำกินใส่ไว้ในรางหรือมีจุ๊บน้ำในแต่ละคอก โดยอัตราการไหลของน้ำอย่างน้อย 1 ลิตรต่อนาที ควรมีโปรแกรมตรวจสอบคุณภาพน้ำกินอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตรวจสอบอุปกรณ์ให้น้ำกินพร้อมใช้งานเสมอ ต้องแน่ใจว่าไม่มีสายไฟใกล้กับระบบน้ำ การทดสอบทางเคมีและทางชีววิทยาในน้ำกินเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันความไม่บริสุทธิ์ ระดับแร่ธาตุและการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย

คะแนนความสมบูรณ์รูปร่าง (Body Condition Score : BCS)

  • BCS 1 มองเห็นกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงและกระดูกสะโพกชัดเจน (BF < 14 มม.)
  • BCS 2 คลำพบกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงและกระดูกสะโพกชัดเจน (BF 14-17 มม.)
  • BCS 3 แผ่นหลังค่อนข้างโค้ง คลำไม่พบกระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพกนอกจากกดแรงๆ (BF 18-22 มม.)
  • BCS 4 แผ่นหลังโค้ง ไม่พบกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกแม้จะกดแรงๆ (BF 23-24 มม.)
  • BCS 5 บั้นท้ายกลมมน แผ่นหลังโค้งมาก หลังแบนเป็นร่อง (BF>24 มม.)

หมายเหตุ

BF = ความหนาไขมันสันหลัง (Back Fat)

สาเหตุที่พ่อสุกรไม่กระตือรือร้นในการผสมพันธุ์

มีสาเหตุมาจาก

     1.  กรรมพันธุ์ที่มีความต้องการทางเพศต่ำ (Sex drive) ซึ่งไม่มีวิธีแก้ไข

     2.  การผสมในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ

     3.  สภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป

     4.  ช่วงไล่ต้อนไปผสมพันธุ์ พ่อสุกรเหนื่อย ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความกลัว

     5.  การติดเชื้อ ป่วย เป็นโรค

     6.  ขาไม่มีแรง หรืออายุมาก

     7.  อ้วนเกินไป ทำให้ไม่ค่อยกระตือรือร้น

     8.  เกิดจากการให้อาหารไม่ตรงเวลา หรือพ่อสุกรหิวระหว่างการผสมพันธุ์

     9.  ได้รับบาดเจ็บจากการผสมพันธุ์

เอกสารอ้างอิง

ศรีสุวรรณ  ชมชัย. (2542). คู่มือปฏิบัติการผสมเทียมในสุกร. พิมพ์ครั้งที่ 3. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, นครปฐม

ที่มา : สัตว์เศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 844 ปักษ์แรกมีนาคม 2562 หน้า 24-26

 

Visitors: 395,730