Pig Board มีมติตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา พรบ. สุกรและเนื้อสุกรเพื่อผลักดันขั้นต่อไป

Pig Board มีมติตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา พรบ. สุกรและเนื้อสุกรเพื่อผลักดันขั้นต่อไป

28 กุมภาพันธ์ 2562 กรมปศุสัตว์ – ทีมกฎหมายสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาตินำเสนอรายหมวดในที่ประชุม Pig Board โดยที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาในรายละเอียดก่อนส่งรัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์เข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งพิจารณาต่อสภานิติบัญญัติเพื่อบังคับเป็นกฎหมายต่อไป

          น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพร้อมคณะกรรมการกฎหมาย ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติเรียงเป็น 10 หมวด โดยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกร จะสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับผู้เลี้ยงทุกขนาด ซึ่งแนวคิดส่งเสริมให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทำงานโดยจะช่วยลดช่องว่างของปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” เพื่อเป็นต้นแบบที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวของประเทศเนื่องจากมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรทุกระดับยินดีไม่ขัดข้องกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยพระราชบัญญัติได้กำหนดอำนาจคณะกรรมการสุกรและเนื้อสุกรแห่งชาติในการนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับการผลิตและความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางในลักษณะเดียวกับประเทศชั้นนำของโลก เช่น ประเทศออสเตรเลีย โดยน.สพ.วิวัฒน์ ได้เสนอที่ประชุมให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างเพื่อผลักดันต่อไป

          ประธานที่ประชุมคุณลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติสุกรและเนื้อสุกร เนื่องจากต้องการให้เกษตรกรสร้างระบบมาดูแลกันเองซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรเองในด้านการส่งเสริมพัฒนาวิจัย ไปพร้อมกับดูแลเกษตรกรรายเล็กที่มีนับแสนราย ประธานที่ประชุมแนะนำให้จัดทีมงานวิจัยอย่างละเอียด ดูประเด็นการทับซ้อนของกฎหมาย เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัตินิ่งที่สุด ก่อนเข้าสู่ขั้นของสภานิติบัญญัติ โดยได้ยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติข้าวที่ร่างไม่นิ่ง โดยร่างที่เข้าการประชุมเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดมากเมื่อเทียบกับฉบับตั้งต้น  โดยประธานให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาและคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นต่อไป

          สำหรับขั้นตอนของการออกพระราชบัญญัตินี้หลังจากผ่านขั้นตอนของคณะอนุกรรมการที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นมา จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเข้าสู่การผ่านมติเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป

          สำหรับช่องว่างรายได้ของประเทศไทยที่บรรษัทวาณิชธนกิจชื่อดังอย่างเครดิตสวิส (Credit Suisse) เผยแพร่รายงานความมั่งคั่งโลก (Global Wealth Report) ประจำปี 2018 เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สื่อหลายรายได้นำรายงานฉบับดังกล่าวมานำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา กระทั่งกลายเป็นดราม่าในโซเชียลมีเดีย ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ จึงออกมาแถลงข่าวโต้แย้งว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะหากใช้ดัชนีจีนี (GINI Index) ตามข้อมูลของธนาคารโลกเป็นตัววัดจะพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในลำดับกลางๆ เท่านั้น (อันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศในปี 2558) ซึ่งยังอยู่ในระดับที่เหลื่อมล้ำสูงอยู่ดี

          แนวคิดของการลดช่องว่างรายได้จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีกว่าการครอบครองเศรษฐกิจให้ไปอยู่ในมือของรายใหญ่ไม่กี่ราย เพราะสุดท้ายกำลังซื้อของประเทศจะหดหายและสร้างปัญหาให้กับพลเมืองทั้งประเทศรวมทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ด้วย  

 

Visitors: 395,790