4 กลุ่มเกษตรกรพอใจข้อเรียกร้อง หลังสรรพากรมาร่วมรับเรื่องเอง ลุ้นรอผลอีก

4 กลุ่มเกษตรกรพอใจข้อเรียกร้อง หลังสรรพากรมาร่วมรับเรื่องเอง ลุ้นรอผลอีก

28 กุมภาพันธ์ 2562 ทำเนียบรัฐบาล – 4 กลุ่มเกษตรกรร่วม 9,000 คนร่วมลงชื่อ และส่วนหนึ่งร่วมมายื่นให้รัฐบาลทบทวนกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินกลับมาที่ร้อยละ 85 เหมือนเดิมที่สะท้อนความจริงกว่าร้อยละ 60 ในปัจจุบัน

                    ในการยื่นข้อเรียกร้องในวันนี้มีนางสาววีณา ลิ่มสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร มาร่วมรับข้อเรียกร้องพร้อมด้วยตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักนายกรัฐมนตรี

                    กลุ่มเกษตรกรที่มาร่วมยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีจะมีทั้งกลุ่มสุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ โคเนื้อ โคนม อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ประมงและนาเกลือ โดยผลการยื่นสรุปออกมาดังนี้

  1. สรรพากรจะพิจารณาต้นทุนและรายรับของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งต้นทุนและราคาที่ขายได้มาพิจารณาประกอบ
  2. กรมสรรพากรจะนำแนวทางที่จะใช้หลังได้ข้อสรุปในการใช้ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินที่จะพิจารณากลับมาที่ร้อยละ 85 เพื่อนำไปทำความเข้าใจกับระดับสรรพากรจังหวัด
  3. โดยกรมสรรพากรจะนำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไปทำความเข้าใจกับระดับสำนักสรรพากรพื้นที่ที่ปัจจุบันมี 119 แห่งทั่วประเทศ

                   โดยสรุปที่ผ่านมากับผลกระทบที่เกษตรกร 4 กลุ่มที่ยังมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา รายได้จากการเกษตรทั้ง 4 กลุ่มนี้ถือเป็นรายได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินที่ร้อยละ 60 โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบด้วยในประเด็นนี้ ประกอบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. การเลี้ยงสุกรเป็นสินค้าเกษตรกรรมหนึ่งที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้อย่างมั่นคงชัดเจน กำไรส่วนเกินที่เกินขึ้นเฉลี่ยที่ 5-15% โดยบ่อยครั้งที่ประสบปัญหาการขาดทุนจากการเลี้ยง ดังนั้นการที่ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเพียงร้อยละ 60 จึงเสมือนประเมินกำไรส่วนเกินจากการเลี้ยงสุกรสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง
  2. สุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าที่กำกับควบคุมโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้อำนาจของกรมการค้าภายใน ที่จะควบคุมราคาจำหน่ายสุกรขุนมีชีวิตตามเกณฑ์ที่ปฏิบัติกันคือไม่เกินร้อยละ 20 จากต้นทุนการเลี้ยงสุกร ดังนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกเท่ากับประเมินกำไรส่วนเกินเป็นร้อยละ 40 ที่ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง
  3. ถ้ายังใช้ค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกนี้ มีความเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงที่ยังอยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเภทนี้จะได้รับผลกระทบใน 2 กรณี

3.1.    กรณีขายได้สูงกว่าต้นทุนตามปกติ(5-15%): ต้องเสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินส่วนหนึ่ง และ เสียภาษีจากต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งจะกระทบกับเงินทุนหมุนเวียนของผู้เลี้ยง

3.2.    กรณีขายได้ต่ำกว่าต้นทุนตามปกติ : ต้องเสียภาษีจากส่วนต้นทุนการเลี้ยงเพราะการให้หักค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง ซึ่งจะกระทบกับเงินทุนหมุนเวียนของผู้เลี้ยง ซึ่งจะไปสร้างปัญหาการเพิ่มหนี้สินภาคครัวเรือนในส่วนของหนี้สินเกษตรกรที่จะไปเพิ่มปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศ

โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะได้รับผลกระทบตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกประกอบด้วย

  1. เกษตรกรที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรต่อปีตั้งแต่ 525,000 บาทขึ้นไป
  2. เกษตรกรที่ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลทั้งบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด

                     ซึ่งจากเหตุผลที่เรียกร้องถือว่าเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยังไม่มีความพร้อมในการทำบัญชีตามเกณฑ์ของกรมสรรพากร หรือ การเปลี่ยนสภาพเป็นนิติบุคคล การจัดหาใบเสร็จที่ค่อยข้างเป็นไปได้ยากตามเกณฑ์ของกรมสรรพากร  โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นหน่วยงานที่ติดตามข้อเรียกร้องในครั้งนี้ ซึ่งตามขั้นตอนการแก้ไขพระราชกฤษฎีกานี้ซึ่งออกตามความในประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานต้นเรื่อง จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำเข้าประชุมในคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป  

 

 

                            

Visitors: 395,702