สภาหอการค้าไทยรับเป็นตัวกลาง จับคู่ สมาคมหมู กับ มกอข. เคลียร์ปม CODEX และหาทางออกมหากาพย์หมูอเมริกา ก่อนกระทบการส่งออกแขนงอื่นๆ ไปสหรัฐ

สภาหอการค้าไทยรับเป็นตัวกลาง จับคู่ สมาคมหมู กับ มกอข. เคลียร์ปม CODEX และหาทางออกมหากาพย์หมูอเมริกา ก่อนกระทบการส่งออกแขนงอื่นๆ ไปสหรัฐ

28 พฤศจิกายน 2561 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจงปม CODEX ต้นกำเนิดมหากาพย์หมูอเมริกา 5 ปี กับสารพัดเกมส์กดดันจากสหรัฐอเมริกา ในที่ประชุมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติโดยคุณสมพร กมลพรสิน ผู้จัดการสมาคม ดันปมต้นกำเนิดการกดดันการเปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเข้าหารือในวาระอื่นๆ ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อ 27 พฤศจิกายน หลังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมวาระเพื่อหารือ “แนวทางการปกป้องการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในจากสหรัฐอเมริกา” ที่ยกเลิกวาระเนื่องจากนายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ ผู้เสนอติดภารกิจ  

ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ ได้ให้รายละเอียดความเป็นมาและปมการรับกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะภาคีสมาชิกในการประชุม CODEX ครั้งที่ 35 ระหว่าง 2-7 กรกฎาคม 2555 โดยตัวแทนจากประเทศไทยไปวางตัวเป็นกลางในวาระกำหนด MRL ของ Ractopamine ที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ CODEX ใช้การโหวตรับมติ ทั้งๆ ที่ทางปกติจะต้องเป็นฉันทามติเท่านั้น (ต้องไม่มีผู้คัดค้าน)

การวางตัวเป็นกลางของคณะผู้ร่วมประชุมจากประเทศไทยเท่ากับไทยยอมรับมติ MRL ของ Ractopamine ทำให้สหรัฐใช้ข้อเท็จจริงดังกล่าวกดดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อสุกรและเครื่องในให้โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ให้ข้อสังเกตว่าบทบาทของภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ด้านการเจรจาการค้าเป็นการกระทำถูกต้องตามบทบาทที่ต้องยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก ในขณะที่กรมปศุสัตว์ก็ทำหน้าที่ถูกต้องในการเข้มงวดการใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะกฎหมายภายในประเทศมีบทบัญญัติห้ามใช้และกำหนดบทลงโทษไว้ตามกฎหมายหลัก เพราะแนวทางทวินิยมด้านกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องแก้กฎหมายภายในก่อน โดยสมาคมฯ ได้แสดงข้อกังวลว่าจะกระทบ 2 ประเด็น คือ ปัญหาทางสังคมกับผู้เลี้ยงสุกรในด้านการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้สหรัฐ และ จะเกิดความเคลือบแคลงกับนโยบายด้านอาหารปลอดภัยของประเทศ ที่มีกฎหมายต่างๆ ด้านมาตรฐานต่างๆ ที่ออกมาอย่างมากมายช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ประธานที่ประชุม ดร.สมบัติ ธีรตระกูลชัย รับว่าจะเป็นตัวกลางให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และ สำนักงานมาตรฐานอาหารและสินค้าเกษตรแห่งชาติ(มกอช.) ได้ร่วมประชุมหารือกัน เพื่อหาแนวทางแก้ปม CODEX เพื่อหาทางออกปัญหามหากาพย์หมูจากสหรัฐ เพราะ NPPC และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐเริ่มมีการกดดันมากขึ้นกับการเอามาโยงผลประโยชน์ GSP ที่ภาคส่งออกของไทยได้รับมาเป็นข้อต่อรองให้เปิดตลาดเนื้อและเครื่องในสุกรให้สหรัฐ ที่ไทยถือว่ารับข้อกำหนด MRL ของ Ractopamine ในเวที CODEX แล้วแต่สหรัฐมองว่าไทยหน่วงเวลามาตลอด

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง :10 ประเด็นหมูสหรัฐฯ ที่ภาครัฐและผู้เลี้ยงสุกรไทยต้องเคลียร์ เพื่อความเข้าใจตรงกันกับกติกาทั้งกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร

 

Visitors: 395,781