ภาษีเกษตรกรไทย ทำไมต้องหักค่าใช้จ่าย 85% รู้ไว้...ก่อนยื่นนายกลุงตู่ อังคารที่ 31 กรกฎาคมนี้

ภาษีเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรปศุสัตว์ทำไมต้องขอแก้เป็นหักค่าใช้จ่าย 85% จากประกาศที่ 60% รู้ไว้ก่อนยื่นนายกลุงตู่ อังคารที่ 31 กรกฎาคมนี้

โดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

ก่อนที่จะมีการประชุมที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา...จะได้ยินบ่อยๆ เรื่อง 60:40 พอมาศึกษาในรายละเอียดก็เริ่มกระจ่างว่า เขากำลังพูดถึงเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) ตามประมวลรัษฎากร ที่เป็นเงินได้พึงประเมินของเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีตั้งแต่เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) ถึง 40(8) เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้

  1. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น
  2. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(2) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่าเงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
  3. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(3) ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
  4. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(4) ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น

ก.       ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมี หลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม

ข.       เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ

ค.       เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ง.        เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน

จ.       เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน

ฉ.       ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

ช.       ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

          เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(4) ในหลาย ๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้

  1. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
  2. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
  3. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
  4. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน ฉบับที่ 629 พ.ศ. 2560 ข้อ 8 ได้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายเหมาในมาตรา 40(8) ประกาศยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาส่วนใหญ่จาก 43 ประเภท จาก 80% ของรายได้ เหลือแค่ 60% (โดยที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ข้อ (38) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้) ทำให้เจ้าของกิจการขนาดเล็กกลุ่มนี้มีเงินได้พึงประเมินก่อนหักค่าลดหย่อนขึ้นเป็น 40% เมื่อนำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าแล้ว ทำให้ต้องจ่ายภาษีครึ่งปีมากกว่าปีก่อนหลายเท่าตัว

ความประสงค์ของรัฐบาลจากประกาศนี้เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้แปรสภาพเป็นนิติบุคคล เพราะสร้างความมั่นคงของระบบจัดเก็บภาษี เพราะเมื่อบุคคลธรรมดาแปรสภาพเป็นนิติบุคคล จะต้องมีการจัดทำบัญชีเพื่อยื่นแบบรายปี ระบบจะบังคับกันเองให้มีระบบใบเสร็จการซื้อขายผ่านการมีภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบต่อเนื่อง โดยปีภาษี 2560 ประมาณว่ามีผู้ประกอบการเปลี่ยนในรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็น “นิติบุคคล” เพิ่มขึ้น 250,000 ราย ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,200 ล้านบาท  ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลจะเป็นแบบขาดดุลติดต่อกันมายาวนาน โดยงบประมาณปี 2562 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบกับกรอบสัดส่วนวินัยการเงินคลัง ดังกล่าว ก็จะเริ่มใช้กับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2562 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เพราะมีการประมาณการเก็บรายได้ 2.55 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัวได้ 4.2% ทำให้ต้องเพิ่มนโยบายการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมให้มากขึ้น แต่ยุครัฐบาล คสช. ได้วางกรอบวินัยการเงินการคลังไว้แล้ว โดยออกเป็นกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

แต่ปัญหาการลดค่าใช้จ่ายเหมาของเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) จากเดิม 80% เป็น 60% ในปีภาษี 2561 ต่ำเกินไปสำหรับเกษตรกร และเร็วเกินไปที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปรับตัวเองเป็นนิติบุคคลได้ โดยประเด็นอัตราค่าใช้จ่ายที่ต่ำไปจะไม่สอดคล้องตามสภาพความเป็นจริง เพราะรายได้ของเกษตรกรต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในประเภทเดียวกันของเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) คือ ราคาจำหน่ายสินค้าเกษตรกรของไทยที่ยังไม่มีธุรกรรมการแปรรูปหรือต่อยอดวงจรอื่นๆ ทั้ง Forward และ Backward ในทางปฏิบัติไม่สามารถกำหนดราคาจำหน่ายเองได้ และไม่มีองค์ประกอบทางธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดมาบริหารความเสี่ยงด้านราคานี้ได้ ถึงแม้บางช่วงที่มีกำไรก็จะไม่สามารถขึ้นได้สูงเกินกว่าที่จะหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วมีส่วนเกินมาคำนวณการเสียภาษีที่จะไม่มากินส่วนทุนได้ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะมีปัจจัยภาครัฐที่เข้ามาแทรกแซงราคาหน้าฟาร์มด้วยเหตุผลเพื่อการดูแลผู้บริโภคในยามราคาขาขึ้น แต่ในช่วงที่ราคาตกต่ำจะเป็นการลงแบบไร้การแทรกแซง เพราะฉะนั้นเงินได้พึงประเมินของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งจำนวนที่ 100% จึงมีโอกาสสูงที่เป็นไปได้เพียง 2 ส่วนประกอบเท่านั้น คือ

  1. เงินได้พึงประเมินเริ่มต้น น้อยกว่าหรือเท่ากับ ต้นทุนการผลิต + ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร ในกรณีนี้ถ้าค่าใช้จ่ายเหมาที่หักเงินได้พึงประเมินต่ำไป(เช่น 60%) เงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ จะเป็นการนำรายได้ที่ต่ำกว่าต้นทุนมาคำนวณภาษี ซึ่งจะเกิดความเสียหายเพิ่ม การเสียภาษีลักษณะนี้จะไม่สะท้อนความจริง
  2. เงินได้พึงประเมินเริ่มต้น มากกว่า ต้นทุนการผลิต + ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร  ในกรณีนี้ถ้าค่าใช้จ่ายเหมาที่หักเงินได้พึงประเมินต่ำไป(เช่น 60%) เงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ จะมีโอกาสที่จะเหลือส่วนเกินที่เป็นกำไรจริงๆ ต่ำมาก เนื่องจากตามสภาพความเป็นจริงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะเข้ามาแทรกแซงราคาหน้าฟาร์มเร็วมาก ฉะนั้นมาร์จิ้น หรือกำไรขั้นต้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะอยู่ในระดับ 5-10% เท่านั้น อย่างไรก็ตามค่าลดหย่อนต่างๆ ที่จะนำมาหักหลังหักค่าใช้จ่ายจะเป็นจำนวนคงที่ ถึงแม้กำไรขั้นต้นจะเพียง 5-10% แต่ถ้ามีปริมาณผลผลิตสูงจะมีส่วนเกินที่ยังพอเสียภาษีได้ แต่ในทางปฏิบัติกลุ่มที่มีการเลี้ยงจำนวนมากก็จะเป็นรูปบริษัทที่มีการเสียภาษีนิติบุคคลอยู่แล้ว

นี่คือเหตุผลที่ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน ฉบับที่ 629 พ.ศ. 2560 ข้อ 8 ได้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายเหมาในมาตรา 40(8) ประกาศยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาส่วนใหญ่จาก 43 ประเภท จาก 80% ของรายได้ เหลือแค่ 60% จะเหมาะสมในประเภทอื่นๆ แต่จะไม่เหมาะกับกลุ่มเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุกร  ตามประกาศในข้อ (38) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้) ด้วยเหตุผลดังกล่าว โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะยื่นเรียกร้องตรงถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณากำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อหักเงินได้พึงประเมินในกลุ่มเกษตรกรรมที่ทั้งหมดใช้ 60% ในปีภาษี 2561 ให้มาใช้ที่ 85% แทน ด้วยเหตุผลราคาผลิตพึงพิงราคาตลาดเป็นหลักที่มีลักษณะที่เกษตรกรถูกกดราคาอย่างต่อเนื่องในทุกปี

Visitors: 395,789