4 ปมเบื้องต้น ถ้าไม่รีบแก้ วงการสุกรไทยจะลุ่มๆ ดอนๆ ไปอีกนาน

4 ปมเบื้องต้น ถ้าไม่รีบแก้ วงการสุกรไทย "พัง"
โดย เกษตรกรรายย่อย


          เพิ่งผ่านกิจกรรมการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทยที่ยิ่งใหญ่ของผู้เลี้ยงสุกร ทำให้เห็นภาพความสมัครสมานสามัคคีกันของผู้เลี้ยงสุกรไทยอย่างน่าชื่นชม สื่อสาธารณะออกหลายช่องทำให้ผู้บริโภคทั่วไป พ่อค้าแม่ค้าอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสุกรได้รับรู้มากขึ้นว่า 8-9 เดือนก่อน ผู้เลี้ยงหมูทั่วไทยขาดทุนหนักสุดเป็นประวัติการณ์

          หลังราคาเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าผู้เลี้ยงทุกระดับจะได้ก้าวข้ามต้นทุน (ล่าสุดสำนักเศรษฐกิจการเกษตรคำนวณไว้ที่ประมาณ 63 บาทต่อกิโลกรัมของสุกรมีชีวิต 100 กิโลกรัม) แต่ดูเหมือนว่าแนวต้านค่อนข้างแรง ทำให้ต้องหันมาวิเคราะห์อะไรที่เป็นปัจจัยเร่งด่วนที่เป็นปัจจัยรบกวนกลไกตลาดในปัจจุบันบ้าง ทั้งๆ ที่โดยสภาพความเป็นจริงอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงน่าจะเริ่มทำกำไรกันได้บ้างแล้ว อะไรคือปัญหาบ้าง แล้วจะแก้อย่างไร ใครเอารัดเอาเปรียบกัน แนะนำให้ใช้หลักเอื้อเฟื้อกัน เพราะทุกบทบาทในอุตสาหกรรมสุกร คือ Stake Holder ที่ต้องเกลี่ยประโยชน์ให้กันและกัน จะขอแสดงความคิดเห็นว่า ... ปมดังกล่าว มีอะไรบ้าง

  1. “โบรกเกอร์ค้าสุกรขุน” (ส่วนใหญ่)ที่สังคมไม่รู้อย่างชัดเจนในวงกว้างเลยว่าท่านเหล่านี้เป็นใคร? ที่สามารถมาชี้ชะตาผู้เลี้ยงหมูได้ โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่มากำหนดราคาว่าจะให้เท่าใด จะย่อเท่าใด แนะนำให้ให้ท่านจัดตั้งองค์กร หรือสมาคมขึ้นมาเลย เวลาเกิดปัญหาที่หน่วยงานราชการต้องเรียกหารือ จะได้เรียกพวกท่านด้วย เท่าที่สืบค้นมา กลุ่มนี้เคยมีสมาคม แต่สุดท้ายสมาชิกหายหมดตามตัวท่านไม่ได้เลย ท่านต้องจริงใจต่อเพื่อนร่วมอาชีพ
  2. “ผู้เลี้ยงต่อยอด” ผู้เลี้ยงที่ควบทำโรงเชือดที่ชอบที่จะเห็นราคาย่อตัว ในอดีตเราจะสงสัยกันว่า เป็นผู้เลี้ยงสุกร ขายสุกรเพื่อการค้าแต่กลับชอบให้ราคาย่อตัว มาตาสว่างก็ตอนที่เกิดวิกฤตราคารอบนี้ เพราะมีผู้เลี้ยงสุกรจำนวนมากที่ทนแรงกดดันจากโบรกเกอร์ไม่ไหว มาทำการเชือดสุกรจำหน่ายเอง จึงเกิดปรากฏการณ์ตาสว่าง...มันได้เยอะขึ้นจริง ฉะนั้นเวลาที่มีผู้เลี้ยงสุกรท่านใดชอบให้สุกรขุนลงราคา....โปรดตรวจสอบประวัติด้วย จะพบว่าท่านนั้น 1) มีโรงเชือดเองด้วย หรือ 2) เป็นร่างทรงของโรงเชือด หรือ 3) เป็นโบรกเกอร์ด้วย...จะได้จับท่านนั้นไปนั่งให้ถูกกลุ่ม
  3. “ห้างค้าปลีกบีบค้าส่ง โดยเฉพาะกลุ่ม Discount Store หรือ บ้านเราชอบเรียก Modern trade บ้านเราจะมีหลักๆ 3 ห้างค้าปลีกใหญ่ที่มีหลายขนาด ทั้งขนาดเอ็กซ์ตร้า ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ มินิ เอ็กซ์เพลส ตลาด แทรกซึมไปทั่วเกือบจะทุกอำเภอทั่วไทยอยู่แล้ว กลุ่มนี้จะใช้สินค้าเนื้อหมูสร้างราคาจูงใจลูกค้าให้เข้าห้าง ซึ่งปกติก็จะลดราคาเองไม่ไปแทรกแซงราคาผู้ค้าส่งก่อนมาถึงห้าง แต่บ้านเราห้างจะคงมาร์จินตัวเองไว้ คำนวณกลับแล้วจะได้เป็นราคากำหนดกับผู้ค้าส่ง ซึ่งผู้ค้าส่งก็จะมีพฤติกรรมเดียวกันคือคงมาร์จินตัวเองไว้ ไปกดดันต่อจนไปถึงปลายทางคือฟาร์ม ยกเว้นว่าฟาร์มจะรวมตัวกันยืนราคา แต่เป็นเรื่องยากมาก ณ เวลานี้เพราะฟาร์มจำนวนมากมีปัญหากระแสเงินสด
  4. “ปัญหาเทหมู” ทุกช่วงที่มีแรงกดดันราคาสุกรขุน จะมีเสียงบ่นว่ากลุ่มปศุสัตว์ครบวงจรเทหมู ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดเพราะมีจำนวนสุกรขุนมากในทำนองชิงขายทำกำไรหรือต้องการกระแสเงินสดส่งต่อโรงงานอาหารสัตว์ในกลุ่ม จนกลายเป็นราคาอิงใหม่ที่เพื่อนผู้เลี้ยงอื่นๆ ต้องรับกรรมราคาทรุด รื่องนี้ก็จะคล้ายกับการเอาหมูไปเทข้ามเขตของผู้เลี้ยงด้วยกันเอง ทำให้เพื่อนร่วมอาชีพเดือดร้อน ปัญหาเทหมูยังมีอีกลักษณะที่โบรกเกอร์ส่งออกที่ได้ราคาพิเศษกับสัญญาลูกผู้ชาย แต่กลับนำหมูกลับมาเทในพื้นที่อื่นในลักษณะ “ทุบราคา”

นอกจากนี้จะมีปมที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของภาครัฐที่เป็นตัวกระหน่ำซ้ำเติมวงการสุกรของไทยที่จะวิเคราะห์อย่างละเอียดในเชิงหาทางแก้ไขในครั้งต่อไป เพื่อประโยชน์ของมหาชนคนเลี้ยงหมู ที่เป็นกลุ่มปศุสัตว์หนึ่งที่เป็นความหวังกับอนาคตของการบูรณาการเศรษฐกิจไทยในทศวรรษต่อไป

12 พฤษภาคม 2561

 

 

 

 

Visitors: 395,187