ทีมปกป้องเกษตรกรสมาคมหมูดันคุมขั้นต่ำราคาสุกรขุนผ่าน Pig Board ชุดเล็ก ก่อนประชุมปรับโครงสร้างราคาสุกรขุน สู่ ราคาปลีกเนื้อสุกรใหม่ 4 เมษายนนี้

ทีมปกป้องเกษตรกรสมาคมหมูดันคุมขั้นต่ำราคาสุกรขุนผ่าน Pig Board ชุดเล็ก ก่อนประชุมปรับโครงสร้างราคาสุกรขุน สู่ ราคาปลีกเนื้อสุกรใหม่ 4 เมษายนนี้

29 มีนาคม 2561 กรมปศุสัตว์ – ทีมงานสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติผลักดันให้ใช้ พรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาเป็นเกราะปกป้องราคาต่ำสุดผ่านการเห็นชอบคณะอนุกรรมการการผลิต หรือ Pig Board ชุดเล็กของ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์  และพร้อมปรับโครงสร้างราคาสุกรขุน สู่ ราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรใหม่ 4 เมษายนนี้ เพื่อสร้างความยุติธรรมให้ผู้เลี้ยงโดยเฉพาะรายเล็กรายย่อย

          การประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์เมื่อวานนี้(28 มีนาคม 2561) เป็นการประชุมคณะกรรมการชุดเล็ก หรือ คณะอนุกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์(การผลิต) โดยมีวาระพิจารณาหลักๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับผู้เลี้ยงสุกรทั้งอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์นำพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ มาใช้แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรม โดยกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการดูและการซื้อการขายสินค้าที่มีลักษณะที่ผิดปกติในการตั้งราคาซื้อ ตั้งราคาขายที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งการแก้ปัญหาสามารถใช้อำนาจตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้นำเสนอประเด็นนี้อีกครั้งผ่านกรมปศุสัตว์ เพื่อผ่าน Pig Board ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาในคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป   

          การนำกฎหมายมาบังคับใช้ กรณีหลังการประกาศจะมีผลถึงผู้ที่รับซื้อต่ำกว่าราคาที่กำหนดเป็นการกระทำผิดและมีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท ซึ่งเป็นบทลงโทษที่สูงมาก โดยการใช้กฎหมายนี้จะมีระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งในระหว่างส่งต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ จะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาจากสุกรขุนเป็นราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรชำแหละ เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาราคาปลายทางที่ไม่เป็นธรรม โดยการพิจารณาจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายนนี้ โดยจะมีการเชิญผู้ประกอบการโรงเชือดมาร่วมประชุมเพื่อร่วมหาต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงจนถึงปลายทางการจำหน่ายปลีกเนื้อสุกร

          ก่อนการประชุมนายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติหนึ่งในทีมคณะกรรมการกฎหมายที่ร่วมผลักดันให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ มาใช้ ได้ทำการยื่นหนังสือ เรื่อง ขอเสนอให้พิจารณาเรื่องการจดทะเบียนฟาร์มสุกรให้เป็นภาคบังคับ ถึงคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์  โดยผ่านนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานที่ประชุมในครั้งนี้

          โดยเนื้อหาในหนังสือข้อเสนอได้กล่าวถึงปัญหาของอุตสาหกรรมสุกรไทย ที่มีจำนวนผู้เลี้ยงทั้งอุตสาหกรรมโดยประมาณ 195,000 ราย มีประมาณการผลผลิตในปีปัจจุบันประมาณ 20 ล้านตัว เป็นสัดส่วนผลผลิตจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการครบวงจรกว่าร้อยละ 80 ตามประมาณการจำนวนผู้ประกอบการที่ 200 ราย จำนวนฟาร์มที่เหลือประมาณ 194,800 ราย มีสัดส่วนผลผลิตเพียงประมาณร้อยละ 20 ในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย

ขนาดผู้ประกอบการ

จำนวนราย

สัดส่วนร้อยละ

ผลผลิตต่อปี

(ล้านตัว)

สัดส่วนร้อยละ

รายเล็กและรายย่อย

194,800

99.89

4.0

20

ฟาร์มใหญ่และครบวงจร

200

0.11

16.0

80

 

195,000

 

20.0

 

          ปัญหาผลผลิตล้นตลาดสร้างผลกระทบด้านราคาอย่างมากในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมยังไม่มีการรวบรวมผู้ประกอบการและขนาดการผลิต ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการจำนวนผลผลิตได้ สร้างความเสียหายทั้งอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหาศาล สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ภาระหนี้สิน และผลขาดทุนทั้งอุตสาหกรรม  

          เพื่อให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมสุกรไทยมีประสิทธิภาพ จึงเสนอให้กรมปศุสัตว์ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกกฎหมายรองหรือวิธีการใดๆ เพื่อให้การขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรเป็นภาคบังคับ ซึ่งจะก่อผลดีตามมา คือ

  1. ความครอบคลุมในการควบคุมโรคระบาด และการให้วัคซีนโรคที่จำเป็น เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย
  2. ขยายผลด้านมาตรฐานการผลิต มาตรฐานฟาร์ม เพื่อคุณภาพการผลิตที่ดีและมีปริมาณพอเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศและต่อยอดการตลาดต่างประเทศ
  3. สร้างเสถียรภาพราคาทั้งสุกรขุนและเนื้อสุกรให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน
  4. ประสิทธิภาพการควบคุมและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละชุมชนจะดีขึ้น
  5. ควบคุมการขยายที่เกินกว่าปกติของผู้ประกอบการใดๆ ที่ต้องมีตลาดใหม่รองรับ ป้องการเข้าไปครอบงำตลาดระหว่างผู้เลี้ยงต่างพื้นที่
  6. ปกป้องและสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย

ในการประชุมครั้งนี้นายสัตวแพทย์นพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร ที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การค้าสุกรช่วงนี้ว่ากลับกลายเป็นพ่อค้าที่วิ่งหาสุกรขุน สภาวะการขาดทุนที่ยาวนานเกินรอบการผลิตทำให้สภาวะการลดการผลิตเป็นไปตามธรรมชาติและปรากฏชัดเจนในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งได้รายงานสภาวะที่เริ่มพลิกผันในการประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2561  ซึ่งจากสภาวะดังกล่าวมีการลดจำนวนแม่พันธุ์โดยธรรมชาติ มีการขายปลดแม่พันธุ์เป็นจำนวนสูงมาก ส่งผลให้ทิศทางของราคาเป็นขาขึ้น หรือ Upward Trend อย่างชัดเจน  

คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างการคำนวณจากราคาสุกรขุน เป็น ราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกร เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เลี้ยง ผู้ค้าเนื้อสุกร และผู้บริโภค

ในสัปดาห์หน้าพุธที่ 4 เมษายน 2561 ประธานในที่ประชุมได้กำหนดให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจัดเตรียมเรื่องจัดหาข้อมูลค่าใช้จ่ายต่างๆ จนเป็นชิ้นส่วนเนื้อสุกรพร้อมจำหน่าย และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การแปรรูปจนเป็นชิ้นส่วนเนื้อสุกรเพื่อการจำหน่าย มาร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

              

Visitors: 396,636