ความภูมิใจของผม การเลี้ยงสุกรบนดอยอ่างขาง โดย ผศ นาม ศิริเสถียร

ความภูมิใจของผม การเลี้ยงสุกรบนดอยอ่างขาง

ผศ. นาม  ศิริเสถียร

 

  1.  ภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย

          ใต้ร่มพระพุทธศาสนา ที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและมีพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งชาติ เป็นประมุข ซึ่งหาใครมาเปรียบเทียบเสมอเหมือนมิได้เลยในชาตินี้ ผมได้มีโอกาสทำงานโครงการหลวง ที่ดอยอ่างขางซึ่งมี ม.จ.ภีศเดช  รัชนี  เป็นหัวหน้าโครงการ ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่มีความเพียร ความมีสติปัญญา ความอุตสาหพยายาม ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขา และพวกเราต่อเนื่องมาโดยตลอด จนทำให้ชีวิตของชาวไทยภูเขา มีชีวิตที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ดังผลผลิตของดอยคำที่มีจำหน่ายทั่วไป ผมนึกเสมอว่าถ้าไม่มีพระองค์ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาแล้ว ไม่ทราบว่าชีวิตของชาวไทยภูเขา เหล่านั้นจะเป็นอย่างไร นึกภาพไม่ออกจริงๆ สำหรับพวกเราทั้งหลายนั้น สุดคณานับที่พระองค์ท่าน ให้ความเมตตาและห่วงใย จึงพ้นวิกฤตต่างๆ มาจนทุกวันนี้

  1. การมีโอกาสได้เลี้ยงหมูบนดอยอ่างขาง

          ปลายปี 2519 ศ.ม.ร.ว.ชวนิศนดากร  วรวรรณ  ได้มาบอกผม ให้ขึ้นไปช่วยการเลี้ยงหมูบนดอยอ่างขาง ผมเพิ่งกลับมาจากประเทศอังกฤษได้ปีกว่า บนดอยอ่างขางชาวบ้านบริเวณใกล้ๆ ดอยอ่างขางเขาเลี้ยงหมูดอย ก็คือหมูพันธุ์ไทยเรานั่นแหละตัวเล็กวิ่งเร็ว ประเปรียวเลี้ยงปล่อยตามยถากรรมอายุ 7-8 เดือน มีน้ำหนักประมาณ 15-20 กก. เท่านั้น และผมได้มีโอกาสฟังการสัมมนา เรื่องการเลี้ยงหมูบนดอยที่ ห้วยแก้ว จากนักวิชาการท่านหนึ่ง ขอสงวนนามไม่เอ่ยชื่อ ท่านพูดว่าชาวเขาไม่ชอบหมูขาว เขาชอบหมูดำและหมูพันธุ์แท้หรือลูกผสมพันธุ์แท้เลี้ยงบนดอยไม่ได้ ชาวเขาไม่ชอบหมูขาวและหมูขาวเลี้ยงบนดอยไม่ได้ ทำให้ผมกลับมาคิดอยู่หลายคืนและตั้งใจจะแก้ปัญหาทั้งสอง นี้ให้ได้ตามที่ท่านฝ่าพระบาท ม.จ. ภีศเดช  รัชนี  รับสั่งกระผมมา

          การเลี้ยงหมูบนดอยอ่างขาง สิ่งแรกที่จะต้องเตรียมคือคน เพราะคน คือ หัวใจของความสำเร็จ ปัญหาที่เยอะแยะขณะนี้ หรือหมูขาวชาวเขาไม่ชอบ ก็คนนั่นแหละ จริงไหมครับ ผมเตรียมการดังนี้

          2.1  การเลี้ยงหมู ผมขอพนักงานบนดอย 1 คน จาก ศ.ปวิณ  ปุณศรี  มาฝึกอบรมการเลี้ยงหมูที่สถานีวิจัยทับกวาง 1 เดือน โดยให้ฝึกการให้อาหาร การเลี้ยงดู การผสมพันธุ์ การทำคลอด ช่วยคลอด การตอน ผ่าไส้เลื่อน การฉีดยารักษา ตลอดการฆ่าชำแหละซาก เอาเนื้อมาปรุงอาหาร และการทำหมูหัน เป็นต้น

          2.2  เตรียมโรงเรือน 1 หลัง เป็นโรงเรือนแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ พร้อมจะดัดแปลงเป็นห้องคลอด และลูกหมูได้ บนดอยอากาศหนาว ลมแรง โรงเรือนต้องป้องกันลม อากาศหนาวในฤดูหนาว แล้วเตรียมแฝก หญ้าคาไว้เยอะๆ สำหรับแม่หมูคลอดและลูกหมูนอนช่วงหน้าหนาวพอเพียง กลางคืนปิดมิดชิดลมไม่ให้โกรก มีประตูเปิด คือทางเข้าเพียงทางเดียวเท่านั้น

          2.3  เตรียมหมู ผมใช้แม่พันธุ์ลูกผสมระหว่างแลนด์เรซ + ลารจ์ไวท์ เพศเมียน้ำหนักประมาณ 90 กก. จำนวน 10 ตัว เพศผู้ก็ขนาดใกล้เคียงกัน 2 ตัว คือ ลารจ์ไวท์ 1 ตัว และพันธุ์ดูรอค 1 ตัว ผมปล่อยหมูทั้ง 12 ตัว ลงในแปลงหญ้าขนขนาด 1 ไร่ ที่สถานีทับกวาง ให้อาหารวันละ 2 กก./ ตัว / วัน ในซองให้อาหารช่องใครช่องมัน น้ำกินเต็มที่ แล้วค่อยๆ ลดอาหารลงมาจนถึงวันละ 0.5 กก./ตัว/วัน  ภายใน 2 สัปดาห์ แล้วให้เขาอยู่ในแปลงหญ้าต่อไปอีก เพื่อให้ปรับสภาพความอดทน ทนอด แข็งแกร่ง ประมาณ 1 เดือน ลองมาชั่งน้ำหนักดูหมูทุกตัว น.น.ลดเหลือเพียงตัวละ 75-81 กก. เท่านั้น  ทุกตัวก็เป็นสัดตามปกติ ผสมได้ก็ผสมไปเลย แล้วเตรียมการนำขึ้นดอยอ่างขางโดยเฮลิคอปเตอร์ (จากเชียงใหม่-ดอยอ่างขาง)

          2.4  อาหารหมูบนดอย ต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปจากเชียงใหม่ ขึ้นไปแล้วให้กินตัวละ 0.5-0.6 กก./ตัว/วัน  แล้วให้อาหารเสริมตามฤดูกาลที่มีบนดอยอาทิ ลูกท้อ หญ้าลูเซิน กะหล่ำปลี กะหล่ำปม ข้าวโพดทั้งฝัก พืชผักต่างๆ ในแปลงที่เหลือจากตัดเก็บไปเป็นอาหารคนแล้ว และแน่ใจว่าไม่มียาฆ่าแมลงตกค้างหลงเหลืออยู่ สำหรับลูกหมูเล็กหลังคลอด 7-40 วัน จำเป็นต้องให้อาหารลูก (creep feed) เต็มที่ ผลของการเลี้ยงหมูบนดอย ปรากฏว่าลูกหมูคลอดออกมาปกติ ไม่มีปัญหาแต่ประการใด ลูกดกดี

 

โดยสรุปก็คือ

          1. ”หมูพันธุ์แท้สายเลือดยุโรป ที่เราเลี้ยงบนดอยอ่างขาง และดอยต่างๆ ได้โดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพียงแต่คนเลี้ยงต้องเข้าใจ ความต้องการอาหาร การเลี้ยงดู สภาพโรงเรือนในฤดูต่างๆ ให้หมูอยู่อย่างมีความสุข เหมือนเราก็ใช้ได้ เรียกว่า ที่ไหนคนอยู่ได้หมูก็อยู่ได้

          2.  ชาวไทยภูเขา นิยมเลี้ยงหมูลูกผสมพันธุ์แท้และใช้เป็นอาหารตามปกติ เหมือนหมูพื้นเมืองที่เขาเลี้ยงอยู่เดิม แต่หมูลูกผสมพันธุ์แท้ดีกว่าที่อายุ 6-7 เดือนก็สามารถเจริญเติบโตได้น้ำหนัก 70-80 กก. ในขณะที่หมูพื้นเมืองมีน้ำหนักเพียง 15-20 กก. เท่านั้น และเขาก็ใช้ทำพิธีกรรมต่างๆ ได้ตามปกติฆ่าแล้วได้เนื้อมากกว่ากันเยอะ

          3.  เป็นการลบภาพที่นักวิชาการบางท่าน เคยเชื่อว่าหมูพันธุ์แท้หรือลูกผสมหมูพันธุ์แท้เลี้ยงบนดอยไม่ได้และชาวไทยภูเขา ไม่ชอบเลี้ยงหมูนี้หมดไปได้และต่อมาสมัยพี่วิฑูรย์  ทองรมณ์  เป็น ผอ.กองนิคมชาวเขา ในสมัยนั้นก็ขยายพันธุ์หมูลูกผสมพันธุ์แท้ ให้แก่ชาวเขานำไปเลี้ยงกันบนดอย จนเราผลิตให้ไม่พอกับ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย  ความต้องการของตลาดบนดอย

 

Visitors: 396,422