สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติตอบรับ GLP หรือ แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติตอบรับ GLP หรือ แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน (Good Labour Practics for Pig Farm : GLP)

          เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคู่ค้าหลักๆ ของไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกามีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าแฝง ที่มาในรูปการต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานทาส โดยสหรัฐอเมริกาใช้ TIP Report ที่ประเมินสถานะการค้ามนุษย์ให้แต่ละประเทศ ซึ่งสถานะที่ประเมินจะกระทบกับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา โดยล่าสุด 27 มิถุนายน 2560 สหรัฐประกาศคงสถานะ Tier 2 Watch List ให้กับประเทศไทยถึงแม้ก่อนหน้าไม่กี่วันรัฐบาลไทยเพิ่งประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในวันที่ 23 มิถุนายน 2560


          ในทางปฏิบัติสหรัฐอเมริกาใช้ TIP Report ต่อรองและบีบบังคับเพื่อประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐเสมอมา ซึ่งในช่วงนี้มีการบีบรัฐบาลไทยเพื่อหวังที่จะส่งเนื้อสุกรมายังประเทศไทยให้ได้

          Good Labour Practics หรือ GLP มีจุดเริ่มต้นมาจากองค์การแรงงานสากล หรือ ILO โดยภาคประมงและไก่เนื้อได้มีการทำโครงการนี้กับภาครัฐไปแล้ว ถึงแม้ไก่เนื้อไทยตลาดหลักจะเป็นญี่ปุ่น กับ สหภาพยุโรปก็ตาม แต่ปัจจุบัน IUU ได้มีการเพิ่มเติมเรื่องแรงงานเข้าไปด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไก่เนื้อกับประมงจะต้องสร้างมาตรฐาน GLP ของไทยให้เป็นที่ยอมรับ

         เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ผู้บริหารจากกระทรวงแรงงานได้เข้ามาประชุมกับสมาคมฯ เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ GLP ในสุกร ถึงแม้อุตสาหกรรมสุกรไทยยังส่งออกได้น้อยก็ตาม แต่กระทรวงต้องการให้ภาพของการแสดงเจตนารมย์ในการให้ความสำคัญด้านแรงงานแสดงออกให้ประชาคมโลกเห็นในวงกว้าง และในขณะเดียวกันก็ดีต่ออนาคตของวงการสุกรไทยเมื่อสถานการณ์มีความพร้อมที่จะส่งออกเนื้อสุกรไปพร้อมกับมีการปฏิบัติกับแรงงานที่ดี

          ที่ประชุมกรรมการสมาคมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบที่จะเชิญชวนเกษตรกรผู้เลี้ยงเข้าโครงการ GLP ในสุกร โดยในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 จะมีการ Kick Off โครงการนี้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อเติม

          กระทรวงแรงงานมีหนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการมา เพื่อให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เชิญชวนต่อไปยังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภูมิภาค และสมาชิกต่อไป

          ทั้งนี้แนวความคิดเรื่อง GLP เป็นภารกิจที่สำคัญ โดยนายจ้างจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสาระของ GLP เน้นที่บทบาทของนายจ้างในการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าพร้อมจะปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ เพื่อการดูแลคุ้มครองแรงงานของตนเป็นอย่างดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่น  เพราะไม่ว่าจะใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้หนักหรือรุนแรงแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากความเข้าใจของนายจ้างและการยอมรับของลูกจ้างก็ไม่มีวันสำเร็จไปได้ ฉะนั้น แนวคิดในเรื่อง GLP จึงเป็นแนวคิดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด ซึ่งการเข้าร่วมของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในครั้งนี้เพื่อต้องการให้ทุกฝ่ายมองถึงความยั่งยืนของโครงการ GLP ว่าต่อไประบบจะเดินได้อย่างไร  เหมาะสมที่สุดอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการสำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งเชื่อว่า โครงการ GLP ก็คงจะต้องดำเนินการต่อไป โดยจะต้องมาหาข้อสรุปร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด Road Map ในการขับเคลื่อน GLP ทั้งนี้ความสำเร็จในเรื่องนี้อยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ

          สำหรับแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) คือความพร้อมใจของสถานประกอบการที่ต้องการรับรองตนเองว่าไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานไทย มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีหลักการ 10 ข้อดังนี้

  1. ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี)
  2. ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ
  3. ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  4. ไม่มีการค้ามนุษย์
  5. มีเสรีภาพในการสมาคมระหว่างลูกจ้าง
  6. มีการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนายจ้าง
  7. มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย
  8. มีการใช้สารเคมี
  9. มีการส่งเสริมการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก (อายุ 15-17 ปี)  และ
  10. มีระบบการจัดการสุขอนามัยและการจัดการของเสีย

          โดยแนวทางปฏิบัติที่ลงตัวของ GLP สำหรับฟาร์มสุกร จะมีการร่วมกันทบทวนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติ GLP สุกรต่อไป โดยจะเริ่มจาก GLP กลาง และ GLP ไก่เนื้อที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

 

Visitors: 395,791