ทิศทางจัดการอาหารสัตว์ในอนาคต

ทิศทางจัดการอาหารสัตว์ในอนาคต

        ปัจจุบันการเลี้ยงและการผลิตปศุสัตว์พัฒนาจากในอดีต มีการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ หรือระดับอุตสาหกรรมครบวงจร การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีผลผลิตสูง นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคระบาด ลดความสูญเสีย ขณะเดียวกันจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาน้ำมันดิบ และสภาวะเศรษฐกิจโลก ต่างก็มีผลกระทบต่อปริมาณและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การจัดการอาหารสัตว์ทั้งการประกอบสูตรและการให้ต้องพัฒนา เพื่อให้ได้อาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสัตว์ในแต่ละช่วงอายุ ช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตดี ในต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม และได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ทันสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์

        ผศ.ดร.เสกสม  อาตมางกูร คณบดี คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยกับ สัตว์เศรษฐกิจ ว่า การผลิตปศุสัตว์ มีปัจจัยหลัก 2 กลุ่ม คือ 1. ปัจจัยทางตรง ที่ประกอบด้วย พันธุกรรม โภชนาการ (อาหารสัตว์) การจัดการ การดูแลสุขภาพ และการจัดการสภาพแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตสัตว์โดยตรง แต่เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ 2. ปัจจัยทางอ้อม ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมในที่ต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ และความต้องการของผู้บริโภค ที่กำลังมีบทบาทต่อการผลิตปศุสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตปศุสัตว์ควบคุมไม่ได้ จึงต้องให้ความสำคัญและติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

        สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลก แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ “กลุ่มเมล็ดพืชน้ำมัน (Oil Seed)” ที่หลังจากผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันแล้วได้เป็นวัตถุดิบแหล่งโปรตีนในสูตรอาหาร โดยมีวัตถุดิบหลัก คือ ถั่วเหลือง และเรปซีดหรือคาโนลา ซึ่งถือเป็นพืชที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาแม้มีการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ถั่วเหลืองให้มีผลผลิตสูงขึ้นแต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของไทยไม่เหมาะสมต่อการปลูกถั่วเหลือง เพราะถั่วเหลืองต้องการช่วงแสงยาวในช่วงที่ออกดอก เพื่อให้มีดอกและเมล็ดจำนวนมาก แต่ประเทศไทยมีช่วงแสงสม่ำเสมอตลอดปีประมาณ 12-13 ชั่วโมง ต่างจากประเทศในเขตอบอุ่นที่ฤดูร้อนมีช่วงแสงมากกว่า 15-16 ชั่วโมง ส่งผลให้ถั่วเหลืองในเขตเหล่านั้นได้ผลผลิตสูง ส่งผลให้การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่เรปซีดเป็นพืชน้ำมันอันดับ 2 ที่มีการปลูกกันค่อนข้างมาก ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงอาจไม่คุ้นเคยมากนัก แต่เป็นวัตถุดิบที่มีการใช้ในโรงงานอาหารสัตว์มานานแล้ว

        เมื่อพิจารณาแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลก “สหรัฐอเมริกา” ถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น หากมีปัจจัยมากระทบกับแหล่งปลูถั่วเหลืองที่สำคัญของอเมริกาย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณ และราคาทันที นอกจากนี้เกษตรกรของอเมริกายังสลับการปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดในแต่ละปีตามสถานการณ์และความต้องการของตลาดอีกด้วย ขณะที่ “บราซิล” เป็นผู้ผลิตและส่งออกถั่วเหลืองอันดับ 2 ของโลก และที่ผ่านมาบราซิลขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นไปตามลุ่มแม่น้ำอเมซอน จนปริมาณการผลิตใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา อันดับที่ 3 คือ อาร์เจนตินา ที่มีการผลิตและส่งออกถั่วเหลืองเช่นกัน โดยการปลูกในประเทศผู้ผลิตถั่วเหลืองอันดับต้นๆ ของโลกนั้นเป็นการปลูกแปลงใหญ่ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำมาก ส่วนประเทศในเอเชีย จีนและอินเดีย มีการปลูกถั่วเหลือง เช่นกัน แต่เป็นการผลิตรองรับความต้องการในประเทศเป็นหลัก อาจมีปริมาณเหลือส่งออกเพียงเล็กน้อย และไม่มีผลต่อตลาดโลกมากนัก

        จากการที่สหรัฐอเมริกาอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ส่วนบราซิลและอาร์เจนตินาอยู่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้ฤดูกาลตรงข้ามกัน การปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดระหว่างอเมริกาเหนือและใต้จึงแตกต่างกัน ทำให้มีผลผลิตรองรับความต้องการตลาดโลกได้ตลอดทั้งปี โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มฤดูกาลปลูกถั่วเหลืองตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน หากปลูกหลังจากนี้จะมีปัญหาในการเก็บเกี่ยว เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่วนการเก็บเกี่ยวอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ซึ่งการปลูกในอเมริกาสามารถติดตามข้อมูลเป้าหมายพื้นที่การปลูก การปลูกจริง ณ เวลานั้นๆ เป็นไปตามเป้าหมายแล้วเท่าใด การคาดว่า จะมีผลผลิตเท่าใด ได้ทันที มีข้อมูลที่ล่าสุดและผลการวิเคราะห์ออกมาเป็นประจำ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร และระบบจีพีเอสควบคุม  หากไม่มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนเป็นไปตามเป้าหมายผลผลิตที่ได้จะออกมาตามคาดการณ์แน่นอน ขณะที่บราซิลเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม อาร์เจนตินา เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนธันวาคม มกราคม และ กุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน แสดงให้เห็นว่า เมื่อผลผลิตจากทวีปหนึ่งออกมาอีกทวีปเพิ่มเริ่มปลูก และใช้เวลาประมาณ 3 เดือนถึงเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองมีเพียงพอรองรับความต้องการของโลก แต่อย่างไรก็ดี ราคาถั่วเหลืองจากอเมริกาใต้ถูกกว่าอเมริกาเหนือ ดังนั้น โรงงานอาหารสัตว์จึงบริหารจัดการโดยใช้กากถั่วเหลืองจากอเมริกาเหนือให้พอดี และเก็บสต๊อกกากถั่วเหลืองอเมริกาใต้ เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ดีภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่า ก็มีผลกระทบต่อการผลิตถั่วเหลืองในประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของโลกเช่นกัน

        จากข้อมูลปริมาณถั่วเหลืองในปี 2558 ปริมาณถั่วเหลืองโลกเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าในปี 2559 นี้ ราคาถั่วเหลืองโลกและกากถั่วเหลือง น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบบ้างเล็กน้อย เช่น สถานการณ์ทางการเมือง การกว้านซื้อถั่วเหลืองของจีนในประมาณมากก็อาจกระทบต่อราคาได้ในระยะสั้น ด้านปริมาณการผลิตถั่วเหลืองในประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของโลกเริ่มจาก สหรัฐอเมริกามีการผลิต 105-106 ล้านตัน บราซิลประมาณ 100 ล้านตัน อาร์เจนตินา 57-60 ล้านตัน ปารากวัย 8-10 ล้านตัน

        ด้าน “เรปซีด” และ “คาโนลา” ถือเป็นวัตถุดิบแหล่งโปรตีนที่สำคัญอีกชนิด ที่หลังจากผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันออกไปแล้ว ได้เป็นกากเรปซีดและกากคาโนลา ที่มีโปรตีนสูงประมาณ 36-38 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภาพรวมการผลิตเรปซีดของโลกจากข้อมูลพบว่า มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยสหภาพยุโรปเป็นแหล่งผลิตเรปซีดที่สำคัญของโลกอยู่ที่ประมาณ 21.4 ล้านตัน รองลงมาคือ แคนาดา 14.6 ล้านตัน จีน 14.1 ล้านตัน แต่เชื่อว่า จากปริมาณที่ผลิตทั้งเรป ซีดและถั่วเหลือง รวมถึงปริมาณสต็อก เชื่อว่า ปริมาณวัตถุดิบแหล่งโปรตีนน่าจะเพียงพอกับความต้องการ และราคาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว

        สำหรับวัตถุดิบประเภทแป้ง มี 2 ชนิดหลัก คือ ข้าวโพด และข้าวสาลี โดยการผลิตข้าวโพดโลกลดลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้ข้าวโพดในการผลิตเอทานอล ลดลงตามไปด้วย แต่ไม่น่าส่งผลกระทบกับราคาข้าวโพดมากนัก โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตข้าวโพดรายใหญ่ของโลก กำลังการผลิต 343-345 ล้านตัน รองลงมา คือ จีน กำลังการผลิต 229-230 ล้านตัน อันดับ 3 บราซิล กำลังการผลิต 77-78 ล้านตัน ส่วนไทยมีกำลังการผลิต 4.5 ล้านตัน

        ขณะที่ข้าวสาลีการผลิตของโลกลดลงเล็กน้อย โดยมีสหภาพยุโรปเป็นผู้ผลิตรายใหญ่กำลังการผลิตประมาณ 147-148 ล้านตัน รองลงมา คือ จีน กำลังการผลิต 130 ล้านตัน และอันดับ 3 อินเดีย กำลังการผลิต 90 ล้านตัน โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าข้าวสาลี จากต่างประเทศเข้ามาผลิตอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง ทดแทนปริมาณข้าวโพดในประเทศที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึง เป็นวัตถุดิบที่โรงงานอาหารสัตว์คุ้นเคย ต่างจากฟาร์มท่าอาจยังไม่เคยใช้มากนัก แต่ก็จำเป็นต้องศึกษาทำความรู้จักมากขึ้น เพราะข้าวสาลีจะเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต

        วัตถุดิบอีกกลุ่มที่มีผลต่อการผลิตอาหารสัตว์ คือ ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ไทยมีการผลิตค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับการผลิตปาล์มของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการขยายพื้นที่ปลูกในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูง และผลผลิตจากการขยายพื้นที่ปลูกนั้นทยอยออกสู่ตลาดในช่วงนี้ ดังนั้นภาพรวมปริมาณปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกินความต้องการของโลก เห็นได้จากปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มลดลง เนื่องจากจีนลดการนำเข้า เพราะหันไปใช้น้ำมันถั่วเหลืองราคาถูกลง จึงมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น ปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาว่า จะมีผลต่อการผลิตอาหารสัตว์อย่างไร และจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ลดลงหรือไม่

        ราคาน้ำมันดิบ ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่ออาหารสัตว์ ดังเช่นราคาน้ำมันดิบในปี 2558 ที่ลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี ประกอบกับมีเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันใหม่ที่ทำให้ต้นทุนการขุดเจาะน้ำมันดิบถูกลง ส่วนประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ก็แข่งขันราคา ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการวิเคราะห์ว่า แหล่งพลังงานของโลกในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น และอาจหมดยุคของน้ำมันดิบจึงขายออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลง ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลลดลง ช่วยให้อาหารสัตว์มีแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้น ช่วยลดการใช้วัตถุดิบกลุ่มแป้งที่มีราคาแพง แต่วัตถุดิบจากกระบวนการผลิตเอทานอล เช่น กากข้าวโพด หรือ DDGs ที่ในอนาคตอาจมีปริมาณลดลง และราคาสูงขึ้น หากความต้องการใช้ข้าวโพด เพื่อผลิตเอทานอลลดลง จึงต้องหาทางรับมือไว้ล่วงหน้า

        สำหรับประเทศไทย จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง มีผลกระทบต่อการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภายในประเทศแน่นอน ประกอบกับการปลูกพืชของไทยต่างกับสหรัฐอเมริกาที่ปลูกถั่วเหลืองสลับกับข้าวโพด เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ไทยปลูกตามราคาจำหน่ายของพืชแต่ละตัวเป็นหลัก ขณะที่นโยบายของภาครัฐก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตและราคา โดยผลผลิตเกษตรที่สำคัญของไทย ประกอบด้วย ข้าว มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60 ล้านไร่ และนาปรัง 16 ล้านไร่ ยางพาราพื้นที่ปลูก 15 ล้านไร่ ข้าวโพด 7-8 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 8 ล้านไร่ อ้อย 8 ล้านไร่ และปาล์มน้ำมัน 4-5 ล้านไร่ ซึ่งข้าวและยางพารา เป็นพื้นที่สลับพื้นที่ปลูกได้ยาก ต่างจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง ที่สลับปลูกไปมาตามราคา โดยที่ผ่านมาราคาข้าวโพดไม่ดี ขณะที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณมีแนวโน้มลดลง ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนมันสำปะหลัง การผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาภัยแล้งอาจทำให้มีแมลงศัตรูพืชทำลายกระทบต่อปริมาณผลผลิต ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาวัตถุดิบกลุ่มแป้งของไทยน่าจะอยู่ในเกณฑ์สูง

        การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ฤดูกาลผันแปร และภาวะโรคและแมลงศัตรูพืชที่เปลี่ยนแปลง กระทบต่อการวางแผนการปลูกพืช คาดการณ์เวลาปลูกและเก็บเกี่ยวได้ยากปริมาณผลผลิตต่างๆ ลดลง ส่งผลให้อนาคตอาจต้องปรับรูปแบบเกษตรกรรมในประเทศใหม่ ไทยอาจหันมาปลูกข้าวสาลีที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าวแทน หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์จากข้าวโพดอาจเปลี่ยนเป็นข้าวฟ่างที่ใช้น้ำน้อยกว่า ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องพิจารณาว่า วัตถุดิบยุทธศาสตร์ของฟาร์ม คือ อะไร แล้วหาแนวทางบริหารจัดการให้ได้ทั้งปริมาณและราคา ขณะเดียวกันต้องเปิดใจมองวัตถุดิบทดแทนต่างๆ มาเป็นทางเลือก เพราะวัตถุดิบบางชนิดไม่ใช่วัตถุดิบใหม่ในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี และเรปซีด ที่มีการใช้มานานแล้ว เพียงเปิดใจและนำเข้ามาทดลองใช้แล้วพิจารณาว่าดี หรือไม่ จากการตอบสนองของตัวสัตว์ หากมีปัญหาก็หาสาเหตุและแก้ไข เพื่อใช้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

        เกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการ ต้องระลึกไว้เสมอว่า จากการขยายตัวของการผลิตปศุสัตว์ในประเทศ ไทยจึงไม่ใช่ประเทศที่มีวัตถุดิบอาหารสัตว์เหลือเฟื้ออีกต่อไป แต่ต้องบริหารจัดการวัตถุดิบให้สมดุลและมีประสิทธิภาพ เลือกใช้วัตถุดิบทดแทนและทางเลือกอื่นๆ และเน้นผลิตอาหารที่มีความแม่นยำ หรือมีสัดส่วนของโภชนะตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละช่วงอายุ ไม่ประกอบสูตรแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด และเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

Real Time Animal Nutrition

        หลังจากทราบสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ ก็มาพิจารณากระบวนการผลิตปศุสัตว์ โดยมี “พันธุกรรม” เป็นหัวใจสำคัญ ที่ต้องจัดการปัจจัยทางตรงทั้ง โภชนาการ อาหารสัตว์ การจัดการ การดูแลสุขภาพ และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อให้ประสิทธิภาพการผลิตดี และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี พันธุกรรมก็ถูกปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้นการจัดการต่างๆ ก็จำเป็นต้องพัฒนาตามไปด้วย เพื่อให้สัตว์แสดงประสิทธิภาพการผลิตดีตามศักยภาพของพันธุกรรม

        ขณะเดียวกันปัจจัยทางอ้อมก็มีบทบาทต่อการผลิตปศุสัตว์เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามตลอดเวลาตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์แอลนินโญ่ ลานินญ่า ราคาน้ำมันดิบ และพลังงานทดแทนต่างๆ ที่ทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมในช่วงที่น้ำมันดิบราคาแพงถูกนำไปผลิตเป็นเอทานอลและไบโอดีเซล แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง ความต้องการใช้วัตถุดิบเหล่านี้ก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้มีวัตถุดิบนำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

        สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การจัดการอาหารสัตว์จึงต้องเป็น Real Time Animal Nutrition ที่ปรับได้ตามสถานการณ์ทั้งโภชนาการและวิธีการให้อาหาร ซึ่งเป็นการใช้องค์ความรู้พื้นฐานต่างๆ มาประยุกต์ ปรับใช้ สร้างกระบวนการจัดการอาหารสัตว์ให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น โดยนำข้อมูลทั้ง พันธุกรรม สภาพแวดล้อม การจัดการ ภาวะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น หากข้าวโพดมีปริมาณลดลง จะเลือกใช้วัตถุดิบทดแทนทั้ง ปลายข้าว มันสำปะหลัง ข้าวสาลี ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ประกอบเป็นสูตรอาหารสัตว์ รวมถึงโปรแกรมการให้อาหารที่ตรงกับสถานการณ์ ถือเป็นวิธีการจัดการอาหารที่ดี เพราะปรับได้ตามสถานการณ์ ไม่ควรยึดติดกับความเข้าใจเดิมว่า อาหารต้องเป็นอย่างนั้น ต้องให้อย่างนี้ มิฉะนั้น ก็ไม่มีทางจัดการอาหารสัตว์ได้อย่างถูกต้อง กระทบต่อประสิทธิภาพ และต้นทุนการผลิต

        ยุทธศาสตร์อาหารสัตว์ คือ การบริหารจัดการวัตถุดิบหลัก วัตถุดิบทดแทน วัตถุดิบทางเลือกต่างๆ ได้ทั้งเชิงปริมาณ ราคา และคุณภาพ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตแข่งขันได้ โดยเริ่มการเปิดใจกับวัตถุดิบใหม่ๆ ว่า มีตัวใดที่เหมาะสมน่านำเข้ามาใช้ โดยศึกษ้ข้อมูลการศึกษาวิจัยต่างๆ เพราะวัตถุดิบหลายตัวมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ฟาร์มอาจไม่คุ้นเคย ทำให้เข้าใจคาดเคลื่อนและไม่นำมาใช้ รวมทั้งในอนาคตก็จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบอาหารที่มีความหลากหลาย ไม่ควรพึ่งพาวัตถุดิบตัวใดตัวหนึ่ง เพราะหากมีปัจจัยกระทบกับการผลิตวัตถุดิบตัวนั้นๆ ปริมาณและคุณภาพลดลง ก็จะกระทบต่อการจัดการอาหารสัตว์ ต่างจากการใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายที่บริหารจัดการได้ดีกว่าทั้ง องค์ประกอบทางเคมี และต้นทุนการผลิต

        ขณะที่บายโปรดักท์ (by-products) จากอุตสาหกรรมอาหารเป็นสิ่งที่ไทยมีเหลือเฟือ เพราะประเทศผู้ผลิตอาหาร ก็ถือเป็นกลุ่มวัตถุดิบที่เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องเปิดใจ ยกตัวอย่างกากปาล์ม ที่ถือเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจและไทยก็มีปริมาณมาก ก็ควรหาวิธีการใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับกากเบียร์ที่ก็เป็นวัตถุดิบทางเลือกที่ต้องศึกษาหาวิธีการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และไม่ควรยึดติดกับการทำให้ศักยภาพทางพันธุกรรมสูงสุดมากจนเกินไป เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่เปิดใจนำวัตถุดิบทดแทนเข้ามาใช้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงควรให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

        การประกอบสูตรอาหารที่มีความแม่นยำ (Precision Nutrition) ปัจจุบันมีองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยต่างๆ มากมาย ทราบความต้องการโภชนะของสัตว์ในแต่ละช่วงอายุ ความต้องการกรดอะมิโนต่างๆ กระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหารของสัตว์ การทำสูตรอาหารจึงต้องมีความแม่นยำหรือตรงกับความต้องการของสัตว์ยิ่งขึ้น ต้องไม่มีส่วนเหลือทั้ง สัตว์นำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดเหมือนในอดีต เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะที่สัตว์ก็เจริญเติบโตและผลผลิตได้ดี ที่สำคัญต้องรู้จักและเลือกเทคโนโลยีต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้ ยกตัวอย่าง เอนไซม์ ที่จะมีบทบาทในอาหารสัตว์มากขึ้น เช่น เอนไซม์ไฟเดส เพราะในวัตถุดิบหลายชนิดมีฟอสฟอรัสอยู่ แต่การจะดึงออกมาใช้ประโยชน์ได้จำเป็นเอนไซม์ไฟเดสไปย่อยสลายออกมา เป็นต้น

        วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ของโลก คือ ถั่วเหลือง เรปซีด ข้าวโพด และข้าวสาลี จำเป็นต้องทราบสถานการณ์การผลิตราคา และความต้องการในตลาดโลก เพื่อวางแผนการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดต้นทุนการผลิต เริ่มจากข้าวโพดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดหัวแข็ง มีโปรตีนในระดับที่ดี แต่ในอนาคตหากปริมาณข้าวโพดที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ก็อาจต้องนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งมีโอกาสพบข้าวโพดหัวบุบก็ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เช่นกัน

        ขณะที่ข้าวสาลี ถือเป็นวัตถุดิบที่มีบทบาทต่อการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ถือเป็นวัตถุดิบปกติในสูตรอาหารสัตว์ไปแล้ว ซึ่งหากมองย้อนไปครั้งแรกที่นำเข้ามาใช้ก็ยังมีความกังวลว่า จะใช้ได้หรือไม่ โดยลืมคำนึงไปว่า มีหลายประเทศก็ใช้ข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่แล้ว เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ใช้ได้แน่นอน เพียงปรับสูตรและใช้อย่างถูกต้องก็ผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้โดยข้าวสาลีมีแบบเมล็ดแข็ง และเมล็ดอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนของโครงสร้างแป้งแตกต่างกัน ข้าวสาลีเมล็ดแข็งมีโครงสร้างแป้งคล้ายกับข้าวโพด ขณะที่ข้าวสาลีเมล็ดอ่อนมีโครงสร้างแป้งคล้ายกับมันสำปะหลัง ก็ต้องหาวิธีการใช้ที่เหมาะสม ดังนั้น ในการนำเข้ามาใช้แต่ละครั้งควรสุ่มตรวจก่อนว่าเป็นข้าวสาลีเมล็ดแข็งหรือเมล็ดอ่อนหรือมีทั้ง 2 ชนิดปนกันในสัดส่วนเท่าใด เพื่อวางแผนการใช้ได้อย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด

        ข้าวบาร์เล่ย์ (Barlay) ในอนาคตอาจกลายเป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากมีกากจากกระบวนการผลิตเบียร์และวิสกี้ ข้าวโอ๊ต (Oat) ข้าวราย (Rye) ที่เป็นทางเลือกแม้ปริมาณยังไม่มากนัก ขณะที่ ทวิติคาเล (Triticale) ก็เป็นพืชอีกชนิดที่มีการปลูกเพิ่มขึ้น เป็นพืชทนแล้งได้ดี ซึ่งในอนาคตไทยอาจนำทริติคาเลมาปลูก ข้าวฟ่างเป็นธัญพืชที่มีการปลูกอยู่แล้ว และใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เช่นกัน วัตถุดิบทางเลือกเหล่านี้ก็ต้องพิจารณา และหาวิธีการนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารสัตว์อย่างถูกต้อง

        ขณะที่มันสำปะหลังเป็นพืชที่ไทยปลูกจำนวนมาก ผลผลิตปีละกว่า 40 ล้านตัน แต่น่าเสียดายที่อาหารสัตว์ไม่ค่อยนิยมใช้มากนัก เนื่องจากปัญหาและข้อจำกัดบางประการ ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งของแป้งที่ดี สามารถย่อยได้สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ จึงควรหาวิธีการจัดการปัญหาที่พบจากการนำมันสำปะหลังไปใช้เป็นอาหารสัตว์ทั้งการเป็นฝุ่น ความฟ่าม และความสะอาด เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้การใช้มันสำปะหลังในสูตรอาหารแล้วอัดเม็ดจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ความร้อนที่เหมาะสมก็ช่วยให้แป้งในมันสำปะหลังใช้ประโยชน์ได้ดี จึงควรมีการศึกษาวิจัยว่า อุณหภูมิในการอัดเม็ดเท่าใดที่ช่วยให้แป้งจากมันสำปะหลังย่อยได้ง่าย และภาพรวมของอาหารดีที่สุด

        แต่ปัญหาหลักของมันสำปะหลังที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่นิยมใช้ คือ การปนเปื้อน ความเป็นฝุ่น ทำให้ยากในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ฟาร์มมีโอกาสนำมันสำปะหลังไปใช้ได้มากกว่า ในต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะในช่วงที่กากถั่วเหลืองราคาถูก เนื่องจากการใช้มันสำปะหลังจะต้องเพิ่มสัดส่วนของกากถั่วเหลืองในสูตรอาหาร เนื่องจากมันสำปะหลังมีโปรตีนต่ำ จึงต้องคำนวณด้วยว่า ใช้มันสำปะหลังแล้วต้องใช้กากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นด้วยนั้นมีความคุ้มค่ามากกว่าการใช้ข้าวโพดหรือไม่ เพราะในบางสถานการณ์การใช้ข้าวโพดอาจมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า และจากการที่มันสำปะหลังไม่มีสารสีใดๆ เมื่อนำไปใช้ในอาหารไก่ไข่ก็มีผลให้ไข่แดงสีซีดลง ก็ต้องเติมสารสีในสูตรอาหาร หรือใช้ใบมันสำปะหลังก็นำมาเป็นแหล่งของสารสีและโปรตีนได้

        บายโปรดักท์จากอุตสาหกรรมอาหารมีหลายชนิด เริ่มจาก รำที่มีการใช้กันอยู่แล้ว เพราะเป็นแหล่งของน้ำมันและเยื่อใยที่ดี แต่มีข้อเสียที่หืนได้ง่าย ต้องบริหารจัดการที่ดี ส่วนรำข้าวนาปรังก็ต้องระวังปัญหาการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในอาหารแม่พันธุ์ ขณะที่รำข้าวสาลีที่ได้จากโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โรงงานขนมปังถือเป็นวัตถุดิบที่ดี เพราะราคาค่อนข้างคงที่ และคุณภาพสม่ำเสมอ ซึ่งโรงงานอาหารสัตว์ใช้กันมานานแล้ว ส่วนฟาร์มมีการใช้น้อยมาก ถือเป็นวัตถุดิบยุทธศาสตร์ที่ควรรักษาไว้ แม้บางช่วงที่ราคารำลดลง ก็ไม่ควรตัดรำสาลีออกไป เพราะอาจกลับมาซื้อใหม่ไม่ได้ จึงควรมีไว้ในสต๊อกตลอดเวลา เพราะมีความคุ้มค่าในระยะยาว

        กากมันที่ได้เหลือจากกระบวนการผลิตแป้งมัน โดยมีแป้งเหลืออยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ พลังงานประมาณ 2,600 กิโลแคลลอรี ก็เป็นวัตถุดิบแหล่งพลังงาน เยื่อใยที่ดี และเป็นเยื่อใยที่ละลายน้ำได้ เช่นในสูตรอาหารแม่อุ้มท้อง หรือสุกรรุ่น การใช้กากมันจะช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ซึ่งอดีตก็ไม่นิยมใช้เช่นกัน เพราะโรงงานแป้งนำกากมันออกมาตากบนพื้นดินจึงปนเปื้อน ความชื้นสูง และมีเชื้อรา แต่ปัจจุบันโรงงานแป้งมันหลายแห่งมีกระบวนการสลัดน้ำออกจากกากตากบนพื้นปูนซีเมนต์ ทำให้มีคุณภาพดีก็เป็นทางเลือกในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถใช้ได้ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร

        กากปาล์ม เป็นวัตถุดิบที่ภาคปศุสัตว์ยังไม่ได้นำมาใช้มากเท่าที่ควร เนื่องจากความกังวลว่าใช้แล้วจะเกิดปัญหาถ่ายเหลวในสุกร หรือใช้แล้วย่อยได้ไม่หมด ทั้งๆ ที่ ทุกวันนี้กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดีขึ้น ทำให้คุณภาพของกากปาล์มดีขึ้น ประกอบกับมีเอนไซม์ช่วยย่อยแมนแนนในกากปาล์ม เมื่อใช้ร่วมกันก็ช่วยให้กากปาล์มเป็นแหล่งโปรตีนและน้ำมันที่ดีในสูตรอาหารได้ โดยไม่มีปัญหาถ่ายเหลว กากเบียร์ ก็เป็นวัตถุดิบอีกชนิดที่มีค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับกากมะพร้าว และกากถั่วเขียว ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกได้

        ส่วน DDGs ที่นำเข้ามาจากช่วงแรกที่นำแป้งจากข้าวโพดออกไปผลิตเอทานอล เหลือกากที่มีโปรตีน สารสี เยื่อใย และน้ำมัน ต่อมาพัฒนาเทคโนโลยีดึงแป้งไปผลิตเอทานอล ดึงน้ำมันออกไปผลิตไบโอดีเซล ทำให้ DDGs ในช่วงหลังมีโปรตีนสูง สารสีสูง และเยื่อใยสูง ซึ่งหากมีการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราก็จะมีในปริมาณที่สูง สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ต้องทราบก่อนนำมาใช้ เพราะในการนำเข้าแต่ละรอบคุณภาพก็แตกต่างกัน จึงต้องตรวจวิเคราะห์ก่อนใช้ แต่อย่างไรก็ดี จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ความต้องการใช้เอทานอลก็ลดลงตามไปด้วย อาจทำให้ DDGs ลดลงในอนาคต

        ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล ได้ผลิตภัณฑ์ออกมา 2 ส่วน คือ ไบโอดีเซล และ กลีเซอรีน ที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง แต่ก็มีบางส่วนที่เหลือจึงนำมาศึกษาทดลองใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อหาระดับการใช้กลีเซอรีนที่เหมาะสม โดยการจัดการนำสิ่งปนเปื้อนในกลีเซอรีน ออกทั้งเกลือและเมทานอลก่อนนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนั้นยังมีวัตถุดิบที่มีศักยภาพอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัน เช่น ผลผลิตที่ได้จากกากน้ำตาลที่นำไปผ่านกระบวนการผลิตเอทานอล หรือ วีแนสที่นำมาศึกษาถึงระดับการใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงโปรตีนจากสาหร่ายและโปรตีนจากแมลงที่มั่นใจว่า มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นอาหารสัตว์ในอนาคต

        การจัดการอาหารสัตว์มี 2 มิติ คือ เชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ โดยเชิงคุณภาพ คือ คุณภาพของสูตรอาหารสัตว์ ระดับโภชนะพิจารณาจากการตอบสนองของตัวสัตว์ คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ในสูตรอาหาร คุณภาพของกระบวนการผสมอาหาร หากจัดการทั้ง 3 ส่วนได้ดี ก็ถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณภาพ แต่การทำอาหารคุณภาพไปใช้เลี้ยงสัตว์แล้วได้ประสิทธิภาพการผลิตดี ในต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ต้องอาศัยการจัดการเชิงปริมาณ ด้วยการพิจารณาการกินได้ โปรแกรมการให้อาหาร ซึ่งการใช้วัตถุดิบทดแทน วัตถุดิบทางเลือกต่างๆ จำเป็นต้องพิจารณาทั้งในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

        ยกตัวอย่าง สูตรอาหาร 2 สูตร ใช้วัตถุดิบเหมือนกันทั้งหมด สูตรที่ 1 มีระดับโปรตีน พลังงาน กรดอะมิโน และแร่ธาตุที่สูงกว่า สูตรที่ 2 ทั้งหมด แต่เมื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ปรากฏว่า สัตว์กินอาหาร สูตรที่ 2 ได้ 1.7 กิโลกรัมต่อวัน มากกว่าสูตรที่ 1 ที่กินได้ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้ง การให้อาหาร ปัญหาสุขภาพการดูแลจัดการ ส่งผลให้ปริมาณสารอาหารที่ได้รับแตกต่างกัน สัตว์ที่กินอาหารสูตรที่ 2 ได้รับสารอาหารมากกว่า เติบโตและให้ผลผลิตได้ดีกว่าสูตรที่ 1 ในขณะที่ราคาอาหารต่ำกว่า ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ

        ขณะที่วัตถุดิบทางเลือกที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือมีความฟ่าง เมื่อนำไปใช้แล้วก็ต้องทำความเข้าใจและปรับรูปแบบการให้อาหารด้วย เพราะจากเดิมตัก 1 ครั้ง ได้ 1 กิโลกรัม แต่เมื่อใช้วัตถุดิบที่มีความฟ่าง ตัก 1 ครั้งอาจเหลือ 0.9 กิโลกรัม หากละเลยก็ทำให้สัตว์ได้รับอาหารน้อยลง กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต จึงต้องปรับกระบวนการให้อาหารให้เหมาะสมกับวัตถุดิบที่ใช้ด้วย หรือการใช้วัตถุดิบที่มีความหนาแน่นต่างกันในสูตรอาหาร หากผสมไม่ดี ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ก็อาจเกิดการแยกชั้น อาหารไม่สม่ำเสมอ เมื่อสัตว์กินเข้าไปก็ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ยกตัวอย่าง ไก่ไข่ หากผสมไม่ดี มีการแยกชั้นไก่จะเลือกกินข้าวโพดก่อน ซึ่งหากพื้นที่กินอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลให้คุณภาพไข่แตกต่างกัน จึงต้องแก้ไขด้วยการผสมแล้วอัดเม็ด เพื่อให้ทุกตัวได้รับสารอาหารเท่ากัน

        ในอนาคตทิศทางการจัดการอาหารสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเยื่อใยในสูตรอาหารที่เหมาะสม การใช้ประโยชน์ของแคลเซียมและฟอสฟอรัส โดยเปลี่ยนการคำนวณจากแคลเซียมและฟอสฟอรัสทั้งหมด มาเป็นแคลเซียมและฟอสฟอรัสย่อยได้ เป็นการทำสูตรอาหารที่มีความแม่นยำมากขึ้น มีการใช้เอนไซม์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการใช้วัตถุดิบอาหารที่ถูกต้อง เพราะการจัดการอาหารสัตว์ต้องทันกับสถานการณ์ โดยใช้องค์ความรู้พื้นฐานมากำหนดยุทธศาสตร์ เลือกใช้วัตถุดิบ เพื่อให้ได้อาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับแต่ละฟาร์ม มีประสิทธิภาพการผลิตดี และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยให้แข่งขันได้อย่างยังยืน...

 

ที่มา : หนังสือสัตว์เศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 779 ปักษ์หลังเดือนมิถุนายน 2559 (หน้า 17-23)

Visitors: 395,691