นายกหมูพร้อมเครือข่ายร่วมประชุมกรมปศุสัตว์เน้นชี้แจงแคนาดาว่าการผลิตสุกรไทยมีเพียงพอ

นายกหมูพร้อมเครือข่ายร่วมประชุมกรมปศุสัตว์เน้นชี้แจงแคนาดาว่าการผลิตสุกรไทยมีเพียงพอ

7 มิถุนายน 2559 กรมปศุสัตว์ - นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมประชุมหารือกับกรมปศุสัตว์ เพื่อเป็นการแสดงออกจากผู้เลี้ยงสุกรไทยถึงแคนาดาว่าประเทศไทยผลิตสุกรพอเพียงต่อการบริโภคในประเทศและการเลี้ยงสุกรของไทยส่งผลบูรณาการทางเศรษฐกิจไปยังเกษตรกรรมอีกหลายแขนงที่เสมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยในวงกว้างมาอย่างยาวนาน

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวหลังการประชุมว่า "จากการที่ผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกสุกรจากแคนาดาได้แสดงความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะส่งเนื้อสุกรมาจำหน่ายในประเทศไทยให้ได้ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนและธันวาคมปีที่ผ่านมาจนล่าสุดมีการส่งเรื่องมาอีก โดยอ้างถึงมีผู้นำเข้าจากประเทศไทยแสดงความประสงค์จะนำเข้าเนื้อสุกรจากแคนาดาโดยมิได้ระบุผู้ที่แสดงเจตน์จำนงค์ดังกล่าว"

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้แคนาดามีข้อเสนอในการพิจารณาการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์เครื่องในสุกรที่เลี้ยงภายใต้ Canadian Ractopamine-free Pork Certification Program ซึ่งประเด็นดังกล่าวสหรัฐอเมริกาผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลกเคยมีแนวคิดลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นความพยายามของทั้งสองประเทศนี้ซึ่งที่ผ่านมา แม้แต่การบรรจุการค้าเนื้อสุกรและปศุสัตว์อื่นๆ เข้าไปอยู่ในกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแฟซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) ก็เป็นประสงค์หนึ่งของการผลักดัน TPP เช่นกันที่หวังด้านการค้าเนื้อสุกรของทั้งสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

ในอดีตแคนาดา ห้ามใช้ ทั้ง Ractopamine และ Carbadox ช่วงก่อนร่วม NAFTA แต่ถูกอเมริกาล๊อบบี้เนื่องจากอเมริกาต้องการเปิดตลาดหมูเข้าไปในแคนาดา จึงแก้กฎหมายให้ใช้ Ractopamine ได้ โดย Carbadox แคนาดาแก้เป็นกำหนดค่า MRL (Maximun Residue Limit) แต่ช่วงหลังนั้นแคนาดาเน้นผลิตสุกรในลักษณะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยปีนี้ผลิต 1.8 ล้านตัน ส่งออก 1.2 ล้านตัน

ช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคน 2557 สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และสินค้าเกษตรของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและแคนาดาถูกรัสเซียตอบโต้กรณีการบอยคอตจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดากรณียูเครน โดยห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ทำให้ต้องหาตลาดใหม่ โดยมองเอเชียเป็นอันดับต้นๆ

"ประเด็นการชี้แจงรัฐบาลแคนาดา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะทำหนังสือแจงรายละเอียดตามที่ได้กล่าวในที่ประชุม โดยส่งผ่านฑูตพาณิชย์แคนาดาประจำประเทศไทย เนื่องจากไม่ต้องการให้การปฏิเสธการรับเนื้อสุกรจากแคนาดา ไปกระทบถึงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของประเทศ ถึงแม้การเลี้ยงในแคนาดาจะมีโครงการ Canadian Ractopamine-free Pork Certification Program ก็ตาม ซึ่งกรณีการนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศที่มีการใช้ Ractopamine จะไม่ผ่านเกณฑ์ของกฎหมายอยู่แล้วก็ตาม" นายสุรชัยสรุปตอนท้าย

ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

Visitors: 395,793