มหัศจรรย์นมน้ำเหลือง จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ในการเลี้ยงสุกร

มหัศจรรย์นมน้ำเหลืองจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเลี้ยงสุกร

การสัมมนา ทันโรค ทันเหตุการณ์ ปีที่ 14 “Colostrum : The miracle of herd immunity” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558  ในงานเกษตรกำแพงแสน

 

        “น้ำนมเหลือง” หรือ “นมน้ำเหลือง” (Colostrum) ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อลูกสุกรแรกเกิด ทั้งในเรื่องของอัตราการรอด และการเจริญเติบโตในอนาคตของลูกสุกร จากความสำคัญดังกล่าวจึงทำให้ทีมวิชาการ “หมอหมู” เกษตรศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กำหนดเป็นหัวข้อในการสัมมนา ทันโรค ทันเหตุการณ์ ปีที่ 14 “Colostrum : The miracle of herd immunity” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558  ในงานเกษตรกำแพงแสน

        รศ.น.สพ.ดร.ปรียพันธุ์  อุดมประเสริฐ  กล่าวว่า นมน้ำเหลืองเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับลูกสุกร เพราะนมน้ำเหลืองมีคุณสมบัติมากกว่าที่เราเข้าใจ นั่นคือไม่ได้เป็นเพียงแค่ภูมิคุ้ม แต่จริงๆ แล้วนมน้ำเหลืองมีความสำคัญมากกว่านั้น เพราะมันมีเม็ดน้ำเหลืองด้วย ซึ่งมีความสำคัญตรงที่เวลาที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ถ้ามีการติดช้ำจะทำให้เกิดการตอบสนองภูมิคุ้มอย่างรวดเร็ว

        นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้อวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด ลำไส้ เจริญเติบโตดี สร้างน้ำย่อยได้ดี เพราะฉะนั้นความคิดเดิมๆ ที่เวลาแม่นมแห้งแล้วไปซื้อนมผงมาทดแทน ไม่ควรทำ เพราะมันมีคุณสมบัติที่สู้นมน้ำเหลืองไม่ได้ ดังนั้น ในฟาร์มไม่ควรให้มีแม่นมแห้งเกิน 3-5%

        ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อนมน้ำเหลือง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันและเยื่อใยต่ำ แม่ที่อุ้มท้องแก่และมีอาการหอบ หรือแม่ที่มีอาการส่งเสียงร้องดังช่วงใกล้คลอด แก้ไขได้ด้วยการทำสภาพโรงเรือนให้แม่สุกรไม่เครียด นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการใช้ฮอร์โมนต่างๆ เช่น ฮอร์โมนเหนี่ยวนำหรือควบคุมการเป็นสัด (Prostaglandin) ก็มีผลต่อการทำให้นมน้ำเหลืองลดลง ดังนั้น เมื่อฟาร์มเจอปัญหาตายแรกคลอดมากจะเป็นตัวชี้วัดในเรื่องนี้ด้วย เพราะฉะนั้นในฟาร์มที่มีขนาดครอกเฉลี่ย 15 ตัว จะต้องมีการสูญเสียไม่ต่ำกว่า 3% และมากกว่า 15 ตัว ต้องไม่เกิน 5%

        อีกส่วนที่สำคัญคือภายหลังคลอด 24 ชั่วโมง น้ำนมเหลืองจะหายไป 80% ดังนั้น ช่วงวันแรกของการคลอดลูกสุกรต้องได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเต็มที่และเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม นมน้ำเหลืองในแม่สุกรจะผลิตออกมาได้ประมาณ 3 ลิตรกว่าๆ ดังนั้น ลูกสุกรควรจะได้รับนมน้ำเหลืองประมาณ 200 กรัมต่อตัวต่อวัน โอกาสรอดก็จะสูง

        เช่นเดียวกับ ผศ.น.สพ.ดร.ปริวรรต  พูลเพิ่ม  บอกว่า นมน้ำเหลืองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในช่วงแรกของการเกิดนมน้ำเหลืองคือ 80 วันแรกของการอุ้มท้อง เต้านมยังไม่มีการขยายตัว พอมาที่ 100 วันจะเริ่มเห็นกระทั่ง 110 วัน จะเห็นชัดเจน เพราะมีการสร้างต่อมน้ำนมไปจนถึงช่วงเลี้ยงลูก เต้านมก็จะยังคงมีการพัฒนาต่อไปไม่ได้หยุดช่วงที่คลอดเสร็จ แต่ยังมีการสร้างและพัฒนาของเนื้อเยื่อต่อไป

        อย่างไรก็ตาม เต้านมสุกรจะมีความแตกต่างจากเต้านมสัตว์เลี้ยงลูกอื่นๆ ตรงที่เต้านมสุกรจะมีเฉพาะต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม ขณะที่ในวัวจะมีส่วนที่กักเก็บน้ำนมด้วย ดังนั้นความแตกต่างตรงนี้จะมีผลในเรื่องของการกระตุ้น หมายความว่าในเต้านมของสุกรจะต้องได้รับการกระตุ้น ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 นาที ก่อนเสมอเพื่อให้เต้านมหลั่งน้ำนม ถ้าไม่มีการกระตุ้นก็จะไม่มีการหลั่งน้ำนมออกมา

        แต่อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของนมน้ำเหลืองและการสร้างน้ำนมจะมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องหลายตัว ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ฮอร์โมนตัวแรกคือ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการตั้งท้องมีผลทำให้การสร้างน้ำนมไม่เกิดขึ้น เมื่อสุกรคลอดฮอร์โมนตัวนี้จะลดลงน้ำนมจะเกิดขึ้น ดังนั้น สารเคมีหรือกลไกในร่างกายที่มีผลทำให้ฮอร์โมนตัวนี้ไม่ลดลง จะมีผลต่อการสร้างน้ำนมทันที

        ฮอร์โมนโพรแลคติน (Prolactin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมใต้สมอง เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างน้ำนมเช่นกัน เพราะเมื่อฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนลดลง ฮอร์โมนโพรแลคตินก็จะทำงาน แต่จะต้องได้รับการกระตุ้นจากลูกสุกร อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนโพรแลคตินจะสูงขึ้น 1 ชั่วโมง ภายหลังจากที่แม่สุกรได้พักผ่อน ดังนั้น แม่สุกรที่นอนพักผ่อนเยอะๆ จะช่วยทำให้ฮอร์โมนตัวนี้สูงขึ้นได้

                ฮอร์โมนออกซิโตซีน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนควบคุมการคลอดมีส่วนทำให้น้ำนมหลั่งออกมา และจะหลั่งออกมามากในกรณีที่กระตุ้นที่เต้านม เป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์กับกล้ามเนื้อเรียบในร่างกาย ดังนั้น การฉีดออกซิโตซีนเข้าช่วยในการหลั่งน้ำนมไม่ควรทำ และฮอร์โมนคอร์ทิสซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ถ้าสัตว์มีความเครียดฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งออกมามาก ซึ่งจะไปมีผลต่อการยับยั้งการหลั่งน้ำนม

        สำหรับนมน้ำเหลืองความสำคัญมีอยู่มาก เช่น ในกรณีที่ลูกสุกรคลอดออกมาในภาวะอุณหภูมิที่ต่ำ มีความหนาวเย็นมาก นมน้ำเหลืองจะช่วยได้ในจุดนี้ เพราะนมน้ำเหลืองจะให้พลังงานซึ่งถ่ายทอดจากแม่โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพราะภูมิคุ้มนี้จะถ่ายทอดมาทางน้ำนมเท่านั้นจะไม่ผ่านทางรก หรืออวัยวะอื่นๆ อย่างไรก็ดี ขนาดครอกที่มีลูกดกๆ จะทำให้ลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองที่น้อยลงไม่มีผลกับการสร้างนมน้ำเหลือง แต่มีผลต่อการสร้างน้ำนม (Milk) เท่านั้น และการได้รับนมน้ำเหลืองที่สม่ำเสมอทำให้อัตราการป่วยตายลดลง

        ขณะที่ อ.น.สพ.ดร.มานะกร  สุขมาก  อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบภูมิคุ้มกันในนมน้ำเหลืองมีความแตกต่างกันในสัตว์แต่ละชนิดโดยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของรก (placental structure) ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการเคลื่อนผ่านของภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านรกไปยังลูก ซึ่งในสุกรและสัตว์บางชนิดไม่สามารถถ่ายทอดผ่านรกได้ ดังนั้น ลูกสุกรจะได้รับระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) ผ่านทางนมน้ำเหลืองเท่านั้นและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปกป้องเชื้อโรคในลูกสุกร นอกจากอิมนูโนโกลบูลินแล้วในนมน้ำเหลืองยังมีเม็ดเลือดขาวจากแม่สุกรที่ถูกดูดซึมโดยทางเดินอาหารของสุกรและมีบทบาทในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

        อิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin หรือ lg) เป็นไกลโคโปรตีน (glycoprotein) ที่พบได้ในเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย เป็นสารที่ทำหน้าที่เป็นภูมิต้านทานในเลือด (แอนติบอดี) สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ lgG, lgM, lgA, lgE และ lgD โดยอิมมูโนโกลบูลินเหล่านี้ ถูกผลิตมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด “บีลิมโฟไซต์” (B lymphocyte) ในร่างกายของเราจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดบีลิมโฟไซต์อยู่เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งในทางทฤษฎีแต่ละเซลล์ล้วนแต่สร้างอิมมูโนโกลบูบินที่แตกต่างกันออกไปทำให้ร่างกายเรามีความสามารถในการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมได้อย่างหลากหลาย อิมมูโนโกลบูลินบางส่วนจะอยู่บนผิวเซลล์ของเซลล์บีลิมโฟไซต์ เราจะเรียกอิมมูโนโกลบูลินชนิดนี้ว่า “surface lg หรือ sig” โดยอิมมูโนโกลบูลินเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นทหารคอยตรวจจับสิ่งแปลกปลอม (ที่จำเพาะต่ออิมมูโนโกลบูลินนั้นๆ) เมื่อพบสิ่งแปลกปลอมที่จำเพาะก็จะไปกระตุ้นให้ บีลิมโฟไซต์เซลล์ นั้นแบ่งตัวเพิ่มจำนวนกลายเป็นเม็ดเลือดขาวอีกชนิดที่เรียกว่า “พลาสมาเซลล์” ซึ่งพลาสมาเซลล์นี้เองที่ทำหน้าที่สร้างอิมมูโนโกลบูลินอีกชนิดที่ทำหน้าที่เป็นภูมิต้านทานในเลือด หรือ “แอนติบอดี”

        นอกจากนี้ พลาสมาเซลล์บางส่วนเปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็นเซลล์กลุ่มที่เรียกว่า “เมมโมรีเซลล์” ซึ่งจะมีบทบาทในการจดจำสิ่งแปลกปลอมโดยเซลล์ชนิดนี้มีอายุที่ยืนยาว และพร้อมที่จะกระตุ้นเพื่อสร้างแอนติบอดี ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเดิมหากได้รับเข้ามาอีกในอนาคต แอนติบอดีที่ถูกสร้างและล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด จะไปจับกับสิ่งแปลกปลอม และทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ ตามมา เช่น ล้อมจับแล้วทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเข้าสู่ภายในเซลล์ได้ หรือ ล้อมจับและเหนี่ยวนำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมโครฟาจ (macrophage) มาจับกิน อย่างไรก็ตาม ในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสิ่งแปลกปลอมไม่ได้มีเพียงเม็ดเลือดขาวชนิดบีลิมโฟไซต์เท่านั้นที่ทำงานยังมี “ทีลิมโฟไซต์” ที่จะทำงานควบคู่กันไปเสมอ

        อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่าในนมน้ำเหลืองและน้ำนมนั้นอุดมไปด้วยอิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมในลูกสัตว์แรกคลอด โดยพบ lgM, lgA และlgG เป็นส่วนมาก การถ่ายทอดอิมมูโนโกลบูลินนั้นมีการถ่ายทอดมายังลูกแตกต่างกันตามชนิดของสัตว์ ซึ่งในสุกรมีการถ่ายทอดผ่านทางสิ่งคัดหลั่งจากเต้านม เช่นเดียวกันกับ โค ม้า และแพะ โดย lgM เป็นอิมมูโนโกลบูลินชนิดแรกที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย lgA เป็นอิมมูโนโกลบูลินหลักที่พบตามเยื่อบุและสิ่งคัดหลั่ง ในขณะที่ lgG เป็นอิมมูโนโกลบูลินที่มากที่สุดในน้ำนมและนมน้ำเหลือง

        สำหรับปัจจัยที่มีต่อการผลิตอิมมูโนโกลบูลินในนมน้ำเหลืองและน้ำนมนั้น มีผู้ทำการศึกษากันอย่างแพร่หลายซึ่งประกอบไปด้วยหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม นอกจากนี้ การเสริมสารอาหารบางอย่างเพิ่มเติมในอาหารให้แม่สุกรกินในช่วงตั้งท้อง เช่น การเสริม mannan oligosaccharide (MOS) ในช่วงการตั้งท้องระยะท้าย ส่งผลให้มีปริมาณของ lgM ในนมน้ำเหลืองเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ lgA และ lgG ไม่เปลี่ยนแปลง

        นอกจากอิมมูโนโกลบูลินที่เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับต่อต้านเชื้อโรคที่มีในนมน้ำเหลืองแล้ว ในนมน้ำเหลืองยังสามารถพบเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกสุกรได้ เช่น บรี ลิมโฟไซต์ ที ลิมโฟไซต์แมโครฟาจ นิวโทรฟิล และเซลล์เยื่อบุชนิดอื่นๆ โดยประมาณแล้วมีความเข้มข้นของเซลล์ประมาณ 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตรในนมน้ำเหลือง ซึ่งลูกสุกรจะได้รับเฉลี่ยวันละ 50-70 ล้านเซลล์ต่อวัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในเต้านมในช่วงประมาณวันที่ 80 ของการตั้งท้อง ลิมโฟไซต์ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่พบในปริมาณที่มากที่สุดจะแทรกผ่านเซลล์เยื่อบุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและเลื่อนที่ไปยังระบบน้ำเหลือง กระจายต่อไปยัง ม้าม ตับ และปอด โดยจากการเก็บตัวอย่างต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ (mesenteric lymph node) จากลูกสุกรอายุ 1 วัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการเคลื่อนที่ของลิมโฟไซต์จากทางเดินอาหารสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังพบอีกว่าลิมโฟไซต์ที่มาจากแม่สุกรตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับลูกสุกรตัวนั้นไม่สามารถแทรกผ่านลูกสุกรเข้าไปได้ กล่าวคือต้องเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวจากแม่ของลูกสุกรตัวนั้นเท่านั้น จึงจะสามารถถ่ายทอดไปยังลูกสุกรได้

        ด้าน อ.น.สพ.นรุตม์  ทะนานทอง  กล่าวเสริมในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการสร้างนมน้ำเหลืองในสุกรในเชิงปริมาณโดยรวม (colostrum yield) โดยให้ความสำคัญที่ ลำดับท้องแม่สุกร (sow parity) ความหนาของไขมันสันหลัง (backfat) ความเครียด อุณหภูมิ และโรคต่างๆ โดยกล่าวว่าลำดับท้องแม่สุกร (Parity) มีรายงานว่าแม่สุกรลำดับท้องที่ 2 และ 3 มีแนวโน้มที่จะสร้างนมน้ำเหลืองในปริมาณ (4.3 kg) มากกว่าแม่สุกรลำดับท้องแรก (3.4 Kg) และแม่สุกรลำดับท้องที่ 4 (3.6 Kg) ขึ้นไป นอกจากนั้น ยังพบว่าสุกรในลำดับท้องที่ 1 ถึง 3 มีปริมาณของนมน้ำเหลือง 3.7 Kg ซึ่งมากกว่ากลุ่มแม่สุกรลำดับท้องที่ 4 ถึง 7 (2.8 Kg) อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะสรุปรวมได้ว่าสายพันธุ์ที่เลี้ยงในปัจจุบันนั้น แม่สุกรลำดับท้องที่ 4 ขึ้นไปนั้นจะสร้างนมน้ำเหลืองน้อยลงเมื่อเทียบกับแม่ลำดับท้อง 1-3 และแม่พันธุ์ที่ใช้เวลานานในการคลอดลูกจากตัวแรกถึงตัวที่ 3-5 จะมีปริมาณนมน้ำเหลืองน้อยกว่าแม่สุกรที่ใช้เวลาสั้นกว่า นอกจากนั้น แม่สุกรที่ให้ลูกตายคลอดสูงจะให้มีนมน้ำเหลืองน้อยกว่าแม่ที่ให้ลูกตายคลอดน้อยกว่า

        ระยะอุ้มท้อง (gestation length) พบว่า แม่สุกรที่มีระยะอุ้มท้อง 113 วัน (4.2 Kg) จะมีปริมาณนมน้ำเหลืองมากกว่าแม่สุกรที่อุ้มท้อง 114-115 วัน (3.3 Kg) ส่วนเรื่องของความหนาของไขมันสันหลัง (back fat) ความหนาไขมันสันหลังที่ตำแหน่ง P2 ของแม่สุกรที่วันที่ 85 ของการอุ้มท้องความสัมพันธ์ไปในแนวทางเดียวกับประมาณของนมน้ำเหลือง แต่ความหนาของไขมันสันหลังที่ลดลงจากวันที่ 85 ถึงวันที่ 109 ของระยะอุ้มท้องทุก 1 mm. จะมีผลทำให้เพิ่มปริมาณของนมน้ำเหลือง (colostrum yield) ขึ้น 113 g

        อย่างไรก็ดี ขนาดครอก (litter size) และน้ำหนักครอกรวมแรกเกิด (litter weight at birth) ไม่มีผลต่อปริมาณของนมน้ำเหลือง แต่น้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ยของลูกสุกร (mean piglet birth weight) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับปริมาณนมน้ำเหลืองที่เพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์ จากรายงานพบว่าสุกรสายพันธุ์ที่เลี้ยงทางการค้าในปัจจุบันสร้างนมน้ำเหลือง (colostrum yield) ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่สายพันธุ์นั้นมีผลต่อปริมาณของไขมันในนมน้ำเหลือง ขณะที่เรื่องของอาหาร พบว่าอาหารที่แม่สุกรได้รับในช่วท้ายของการอุ้มท้องมีความสำคัญต่อการสร้างนมน้ำเหลืองโดยแม่สุกรที่ได้รับ conjugated linoleic acid (CLA) เพิ่ม 1.3% ในอาหารตั้งแต่วันที่ 108 ของระยะอุ้มท้องจนถึงคลอดมีแนวโน้มที่จะสร้างนมน้ำเหลือง (409 g/piglet) น้อยกว่ากลุ่มที่ให้อาหารปกติ

                นอกจากนั้นแม่สุกรที่ได้รับเส้นใยในอาหารสูงตั้งแต่วันที่ 26 ของระยะอุ้มท้อง จนถึงคลอดจะมีแนวโน้มสร้างนมน้ำเหลือง (3.4 kg) ได้สูงกว่าแม่ที่ได้รับเส้นใยในอาหารต่ำ (3.0 kg) แต่มีบางการทดลองพบว่าไม่มีความแตกต่างในการสร้างนมน้ำเหลืองของสุกรที่ได้รับเส้นใย (จากอาหารที่มีส่วนผสมของ เปลือกถั่วเหลือง รำข้าว สาลี เมล็ดทานตะวัน และหัว sugar beet) ในปริมาณสูงต่อกลุ่มที่ได้รับใยอาหารในปริมาณที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม ลูกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 900 กรัม กลับได้รับนมน้ำเหลืองมากกว่ากลุ่มที่เกิดจากแม่ที่ได้รับใยอาหารต่ำถึง 60%

        “โดยสรุปแล้วในช่วงท้ายของการอุ้มท้องนั้น คุณภาพอาหารที่แม่สุกรได้รับมีอิทธิพลที่สำคัญต่อการสร้างนมน้ำเหลือง ซึ่งยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้จำเพราะมากขึ้นว่าระยะใดของช่วงท้ายของการอุ้มท้องนั้น (เป็นช่วงสัปดาห์สุดท้าย หรือ 3 สัปดาห์สุดท้าย หรือ trimester สุดท้าย) ที่เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างน้ำนม” อ.น.สพ.นรุตม์ กล่าวสรุปตอนท้าย

 

ที่มา: วารสารสาส์นไก่ & สุกร ปีที่ 14 ฉบับที่ 152 เดือนมกราคม 2559  (หน้า 95-98)

Visitors: 395,474