นายกหมูตอกย้ำ TPP มหันตภัยปศุสัตว์และเกษตรอาหารสัตว์ไทยทั้งระบบ

นายกหมูตอกย้ำ TPP มหันตภัยปศุสัตว์และเกษตรอาหารสัตว์ไทยทั้งระบบ

21 มกราคม 2559 บุรีรัมย์ - นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติชี้ปัจจัยลบ TPP ไม่เพียงเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมสุกรไทยเท่านั้น ยังเป็นมหันตภัยต่อวงการปศุสัตว์และเกษตรอาหารสัตว์ไทยทั้งระบบ 

          การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือประจำปี 2558 จัดขึ้นในวันที่ 21 มกราคม 2559 ที่หอประชุมอัตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ บุรีรัมย์ โดยปีนี้ที่ประชุมได้มีมติให้คุณชูศักดิ์ รัตนวาณิชย์โรจน์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้เล้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ออีก 1 วาระ ในวาระของปี 2559-2561 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 

         ช่วงหนึ่งของกิจกรรมนายสุรชัย สุทธิธรรมนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรกล่าวถึงแนวโน้มการผลิตการตลาดของอุตสาหกรรมสุกรไทยในปี 2559 โดยมีปัจจัยบวกจากความต้องการการบริโภคเนื้อสุกรของประเทศจีนที่มีความต้องการนำเข้าปีนี้สูงถึง 850,000 ตัน หรือ 28 ล้านตัวหมูมีชีวิต ส่วนใหญ่นำเข้าสุกรชำแหละ ความต้องการสุกรจะมากขึ้น ถ้าไทยได้ส่วนแบ่งเพียง 5-10% หรือ 1.4-2.8 ล้านตัว ราคาในประเทศจะมีกำไรตลอดปี ซึ่งปัจจัยการปลดแม่พันธุ์มหาศาลของจีนในช่วงปี 2557-2558 กว่า 7.5 ล้่านแม่จะเป็นปัจจัยบวกที่จีนจะทะยอยเพิ่มแม่พันธุ์ ทำให้ความต้องการส่วนขาดจะยังมีต่อเนื่อง

          สำหรับปัจจัยที่น่าห่วงในอนาคตของผู้เลี้ยงสุกรไทย คือ การที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาเข้าเป็นภาคีสมาชิก “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP)” ซึ่งมีเงื่่อนไขมากกว่าการเป็นเขตการค้าเสรีทั่วไป ที่กำหนดโดยสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่การกดดันญี่ปุ่นให้ทะยอยลดอากรขาเข้ากลุ่มเนื้อวัวและเนื้อสุกร ตั้งแต่ก่อนลงนามข้อตกลง TPP เมื่อ 5 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา 

          ในขณะที่ธุรกิจไก่เนื้อโดยเฉพาะไก่บ้านในเวียดนามกำลังถูกท้าทายจากไก่เนื้อจากสหรัฐที่ถูกกว่ามากเข้ามาทำตลาด ถึงแม้ชาวเวียดนามนิยมรับประทานไก่บ้านมากกว่า แต่ไก่เนื้อจะเป็นวัตถุดิบหลักในกลุ่มอาหารฟาสต์ฟูดส์ เช่น KFC หรือแม้แต่ Mc Donald ซึ่งน่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ของเวียดนามได้ไม่ยากนัก

          หรือแม้แต่กลุ่มเกษตรเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยก็จะได้รับผลกระทบทั้งด้านราคาที่ข้าวโพดจากสหรัฐอเมริกาที่ถูกมากกว่า 30-40% และยังมีกฎเกณฑ์ในการห้ามรัฐบาลประเทศสมาชิก TPP กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบภายในประเทศก่อน ซึ่งปัจจุบันผู้ปลูกข้าวโพดมีการร้องเรียนรัฐบาลไทยว่า กลุ่มบริษัทเกษตรครบวงจร และกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยมีการนำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าทำให้ราคาซื้อขายข้าวโพดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีราคาตกลงทั้งๆ ที่ขณะนี้ทั้งประเทศข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีราคาสูงกว่า 9 บาทต่อกิโลกรัม  ซึ่งถ้าไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิก TPP แล้วเกษตรกรพืชอาหารสัตว์จะไม่สามารถร้องเรียนรัฐบาลไทยได้อีกเลยในประเด็นในลักษณะดังกล่าว นายสุรชัยกล่าวทิ้งท้่าย

           สำหรับความคืบหน้าของการคัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติซึ่งได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปช่วงงานวันสุกรแห่งชาตินั้น ล่าสุดกรมเจรจาการค้าต่างประเทศได้เชิญภาคเกษตร ภาคปศุสัตว์ไทยเข้าประชุมชี้แจ้งผลกระทบเมื่อ 14 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้ สมาคมจะยื่นหนังสือถึงกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทวงข้อเสนอที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรได้เสนอไว้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 โดยนายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย กรรมการสมาคมฯ ที่เข้าร่วมประชุมได้ขอในที่ประชุมให้ทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งผลสูญเสียและการเสียโอกาส จัดทำประมาณการตัวเลขผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบกรณีรัฐบาลไทยจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP แล้วจะเกิดผลกระทบเพียงใดบ้าง ซึ่งจะทำให้ข้อมูลดังกล่าวออกสู่สาธารณะมากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทราบถึงผลที่จะเกิดได้ชัดเจนขึ้น นอกเหนือจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ให้สถาบันปัญญาภิวัฒน์ดำเนินการจัดทำผละกระทบของการเข้าหรือไม่เข้าร่วม TPP ของรัฐบาลไทย ซึ่งผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์นี้มีกำหนดส่งข้อสรุปนี้ให้รัฐบาลภายในสิ้นเดือนมกราคม 2559 นี้

 

 

Visitors: 396,395