เลี้ยงสัตว์อย่างไรจึงไม่ต้องใช้ยา

เลี้ยงสัตว์อย่างไรจึงไม่ต้องใช้ยา

รศ.อุทัย  คันโธ

ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ และ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม

 

  1. คำนำ

        การเลี้ยงสุกรและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในปัจจุบันนับว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีการใช้สายพันธุ์สัตว์ที่มีสมรรถนะสูง ได้แก่ มีอัตราการเติบโตดี มีเนื้อแดงมาก มีประสิทธิภาพการใช้อาหารดีมีลูกดก รวมทั้งมีการพัฒนาการให้อาหาร การดูแลเลี้ยงดู และ การป้องกันโรคสัตว์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยจนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ไม่ด้อยไปกว่าประเทศที่เจริญแล้วโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามการเลี้ยงสัตว์แผนใหม่มักจะประสบปัญหาสัตว์เลี้ยงมีการเจ็บป่วยง่าย ยิ่งเลี้ยงหนาแน่นมากและมีการให้อาหารมากเพื่อให้โตเร็ว สัตว์เลี้ยงยิ่งมีการเจ็บป่วยง่ายขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ สารเคมีในการควบคุมโรคผสมในอาหาร หรือ จำเป็นต้องใช้ยาฉีดเพื่อรักษาอาการป่วยของสัตว์หรือสุกรมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้มียาปฏิชีวนะหรือสารเคมีตกค้างในเนื้อสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่เนื้อ มักจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก จนทำให้มียาปฏิชีวนะ หรือ สารเคมีป้องกันโรคตกค้างในเนื้อไก่ และมีปัญหาในการส่งออกอยู่เนืองๆ

        นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคเนื้อสัตว์เองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียของยาและสารเคมีที่ตกค้างในอาหารมากขึ้น จนกระทั่งองค์การค้าโลก (WTO) ต้องออกกฎห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกมีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารคน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์กำลังไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างยิ่ง การเลี้ยงสัตว์ในอนาคตจะต้องลดการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ หรือ หากเป็นไปได้ควรลดใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์เลย ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ปราศจากการปนเปื้อนด้วยสารเคมีแล้ว ยังเป็นการพัฒนาธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ให้ยั่งยืนตลอดไปด้วย

 

  1. การเลี้ยงสัตว์ไม่จำเป็นต้องใช้ยาได้หรือไม่

        ผู้เลี้ยงสัตว์เป็นการค้ารวมทั้งนักวิชาการในปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่การเลี้ยงสัตว์แผนใหม่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมี เกษตรกรบางกลุ่มที่เติบโตมากับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ก็อาจจะไม่เชื่อว่าการเลี้ยงสัตว์ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในการเลี้ยงสัตว์ เพราะเมื่อใดที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในสูตรอาหาร ตัวสัตว์มักจะเกิดอาการป่วย มีอัตราการตายสูง หรืออาจพูดได้ว่าก็เพราะยาที่ผสมในอาหาร

        อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองได้มีประสบการณ์ในการวิจัย การฝึกอบรมเกษตรกร รวมทั้งการแก้ปัญหาในการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บก ได้แก่ ไก่ สุกร กระต่าง ช้าง ม้า และ สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ และปลา พบว่าแท้ที่จริงแล้ว สัตว์ทุกชนิดถูกธรรมชาติสร้างขึ้นมาให้มีความสามารถในการอยู่รอดบนพื้นโลกนี้เหมือนกับมนุษย์คนเราทุกประการ ในสภาพปกติสัตว์และคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ตลอดเวลา ทั้งน้ำและอาหารที่กิน อากาศที่หายใจ พื้นดินพื้นคอกที่คนและสัตว์อยู่อาศัยจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ และเชื้อโรคเหล่านี้จะเข้าไปในร่างกายและอยู่ในกระแสเลือดคนและสัตว์ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเชื้อโรคเหล่านี้จะไม่สามารถทำอันตรายต่อคนและสัตว์ได้เพราะร่างกายคนและสัตว์จะมีระบบภูมิต้านทางโรค (immunity หรือ diseases resistant) ทั้งชนิดที่เป็นโปรตีน (humoral immunity) และชนิดที่เป็นเซลล์ (cellular immunity) มาต่อสู้หรือมาต่อต้านกับเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นในสภาพปกติแม้ว่าจะมีเชื้อโรคในร่ายกายคนและสัตว์ตามธรรมชาติแต่ร่างกายก็ยังมีสุขภาพดีหากระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกายทำงานได้ตามปกตินั่นเอง แต่เมื่อใดระบบภูมิต้านทานโรคร่างกายอ่อนลง หรือไม่แข็งแรง เมื่อนั้นเชื้อโรคในร่างกายก็จะเหิมเกริมและเริ่มเป็นอันตรายต่อร่างกายทำให้ร่างกายคนและสัตว์ เริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ไม่สบาย หากไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะแนะนำให้คนไข้มีการพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายให้สูงขึ้นเพื่อสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายได้อีกครั้ง พร้อมทั้งมีการให้ยาหรือสารเคมี ในการกำจัดเชื้อโรคในร่างกายบางส่วนเพื่อเป็นการช่วยทำให้สภาพร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น แต่ถ้าคนไข้กินแต่ยาอย่างเดียวแต่ไม่มีการพักฟื้นหรือพักผ่อนอย่างเพียงพอ ระบบภูมิต้านทางโรคยังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ คนไข้คนนั้นก็อาจไม่หายขาดจากอาการเป็นโรคได้ หรือคนไข้บางรายเมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้ไม่มากนักอาจนอนพักผ่อนมากๆ แต่เพียงอย่างเดียวเพื่อกระตุ้นระบบภูมิต้านทานกลับคืนมาต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งก็จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีขึ้น โดยไม่ต้องมีการใช้ยาหรือสารเคมีในการรักษาโรคแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วร่างกายมีระบบต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายเพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอดอยู่แล้ว การพัฒนาระบบภูมิต้านทานโรคให้ทำงานได้เต็มที่ตามธรรมชาติทำให้ทั้งคนและสัตว์มีสุขภาพดีและอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีใดๆ ตลอดชีวิตหรือตลอดการเลี้ยงเลยก็ได้

 

  1. ภูมิต้านทานโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร

        ภูมิต้านทานโรคในร่างกายคนและสัตว์จะถูกสร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติเมื่อร่างกายคนและสัตว์ได้รับเชื้อโรค จากสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายเข้าไป ภูมิต้านทานโรคของร่างกายอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ คือ

        1.  ภูมิต้านทานแบบเป็นโปรตีน (humoral immunity) ซึ่งมีลักษณะเป็นโมเลกุลของโปรตีนมีคุณสมบัติไปจับกับตัวเชื้อโรคในร่างกายทำให้เชื้อโรคไม่สามารถทำการแบ่งตัว หรือขยายตัวได้ เมื่อเซลล์เชื้อโรคหมดอายุก็ทำให้ปริมาณเชื้อโรคในร่างกายลดลง หรือหมดไปในที่สุด

        2.  ภูมิต้านทานแบบเซลล์ (cellular immunity) มีลักษณะเป็นเซลล์พิเศษที่มีคุณสมบัติในการกัดกินเชื้อโรคในร่างกาย ทำให้ปริมาณเชื้อโรคในร่างกายลดลง หรือหมดไปเช่นเดียวกัน

        การกระตุ้นระบบภูมิต้านทานทั้ง 2 ชนิด ต้องอาศัยขบวนการสังเคราะห์โปรตีน (protein synthesis) ในร่างกายเป็นหลัก เพราะโปรตีนที่เป็นภูมิต้านทานโรคต้องถูกสังเคราะห์จากขบวนการสังเคราะห์โปรตีนโดยตรง ในขณะที่การเพิ่มจำนวนเชลล์ที่เป็นภูมิต้านทางโรค ก็ต้องการสังเคราะห์โปรตีนเพื่อให้มีการแบ่งเซลล์มากขึ้นเช่นกัน หากร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนดี การสร้างภูมิต้านทานโรคทั้ง 2 ระบบก็จะดีตามไปด้วย ร่างกายคนและสัตว์จะแข็งแรงไม่ป่วยเป็นโรคง่าย แต่ถ้าร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนน้อยหรือไม่สมบูรณ์ก็จะทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายอ่อนตามไปด้วยและไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายหรือในสภาพแวดล้อมได้ ทำให้สัตว์ไม่แข็งแรงและป่วยตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีต่างๆ มากอีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ และยังทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นด้วย ดังนั้นอาจพูดได้ว่าสุขภาพของสัตว์หรือปริมาณการใช้ยาหรือสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของภูมิต้านทานโรค ของร่างกายสัตว์ ซึ่งเป็นผลมาจากความสมบูรณ์ของการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกายนั่นเอง

        การสังเคราะห์โปรตีนในร่างกายจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อคนและสัตว์ได้รับปัจจัยต่าง ที่สมบูรณ์ดังนี้

        1.  กรดอะมิโน 20 ชนิด  ทั้งชนิดที่จำเป็นต้องมีในอาหารและไม่จำเป็นต้องมีในอาหาร เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของโมเลกุลของโปรตีนที่เป็นภูมิต้านทานโรคหรือเป็นโปรตีนในเซลล์ต้านทานโรคของร่างกาย

        2.  ฮอร์โมนประเภทสร้างสรรค์ (anabolic hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนเพื่อการเติบโต (growth hormone) ฮอร์โมนอินชูลิน (insulin) และฮอร์โมนเพศ (sex hormones) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย

        3.  ไวตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะไวตามิน เอ และธาตุสังกะสี จะถูกใช้เป็นปัจจัยร่วม (co-factors) ขบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนอย่างเต็มที่และสมบูรณ์

        4.  พลังงาน (energy)  ซึ่งอยู่ในรูปสาร ATP เพื่อใช้เป็นพลังงานในขบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย สาร ATP เกิดขึ้นในร่างกายโดยมีต้นกำเนิดจากแป้งหรือน้ำตาลในอาหาร

        ตัวสัตว์ได้รับกรดอะมิโนทั้ง 20 ชนิด ไวตามิน-แร่ธาตุ (ไวตามิน เอ และธาตุสังกะสี) และพลังงาน (แป้ง, น้ำตาล) จากอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ดังนั้นหากสัตว์ได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีมีคุณค่าทางอาหารข้างต้นครบตามความต้องการของสัตว์ ตัวสัตว์เองก็มีแนวโน้มที่มีการสังเคราะห์โปรตีนอย่างเต็มที่ อีกทั้งจะมีการพัฒนาภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติอย่างเต็มที่ด้วย

        ส่วนฮอร์โมนประเภทสร้างสรรค์นั้นโดยปกติตัวสัตว์มีการสร้างและหลั่งออกมาเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในสภาพที่สัตว์เกิดความเครียด (stress) หรือในสภาวะที่สัตว์อยู่อย่างไม่สบาย ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนประเภททำลาย (catabolic hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอย (glucocorticoids) และฮอร์โมนอะดรีนาลิน (adrenalin) ซึ่งฮอร์โมนกลุ่นนี้จะไปยังยั้งกลุ่มฮอร์โมนประเภทสร้างสรรค์ไม่ให้ทำงาน ซึ่งก็จะมีผลทำให้การสังเคราะห์โปรตีนไม่เกิดขึ้น และส่งผลให้ภูมิต้านทานโรคของสัตว์ลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่สัตว์อยู่ดี คือ อยู่อย่างสบาย ไม่เครียดหรือมีความเครียดน้อยที่สุดก็จะช่วยทำให้สัตว์มีภูมิต้านทานโรคดี และสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมได้

        หรืออาจพูดได้ว่า หากสัตว์เลี้ยงมีการกินดีได้รับโภชนะต่างๆ ครบถ้วนตามความต้องการ และอยู่ดีคือตัวสัตว์อยู่อย่างสบายไม่เครียด ตัวสัตว์จะแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดี สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมอีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในการเลี้ยง หรือ หากจำเป็นต้องใช้ก็จะใช้ในปริมาณน้อยที่สุด

 

  1. วิธีปฏิบัติเพื่อให้สัตว์มีภูมิต้านทานโรคดี

        เพื่อให้ตัวสัตว์ได้รับปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีนและการสังเคราะห์ภูมิต้านทานโรคอย่างสมบูรณ์ในร่างกายสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดมีหลักการปฏิบัติโดยรวมดังนี้

        1. การให้สัตว์กินอาหารคุณภาพดี

        อาหารคุณภาพดี หมายถึง อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารต่างๆ ได้แก่ โปรตีน กรดอะมิโน ไวตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งพลังงานเพียงพอกับความต้องการของสัตว์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักส่วนหนึ่งทำให้ร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนอย่างเต็มที่และตัวสัตว์มีภูมิต้านทานโรคดี นอกจากนี้อาหารควรมีการย่อยได้ดี และมีสารพิษปนเปื้อนมาน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ซึ่งจะช่วยลดความเครียดของสัตว์จากการกินอาหาร และส่งผลทำให้สัตว์มีการสังเคราะห์โปรตีนและภูมิต้านทานโรคดีขึ้นด้วย อาหารคุณภาพดีมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นอาหารบริษัทฯ อัดเม็ดเสมอไป อาหารผสมเองที่ฟาร์มแต่มีคุณสมบัติข้างต้นครบก็สามารถทำให้เกิดการกินดีแก่สัตว์เช่นกัน หรือถ้าเป็นอาหารบริษัทฯ อัดเม็ด แต่มีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ มีกากมาก อีกทั้งมีการใช้วัตถุดิบอาหารที่มีสารพิษมาก เช่น กากเมล็ดนุ่น กากเมล็ดฝ้าย กากเรปซีด อาหารนั้นก็มีคุณภาพไม่ดีและทำให้ตัวสัตว์ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้เพียงพอ และจะทำให้สัตว์มีการเจ็บป่วยตลอดเวลาด้วย

        2. การลดความเครียดในการเลี้ยงสัตว์

        ในการเลี้ยงสัตว์มักจะประสบกับปัญหาความเครียดต่างๆ มากมาย การลดแหล่งและปริมาณความเครียดที่ตัวสัตว์ได้รับให้น้อยลงจะมีผลทำให้สัตว์มีการสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มมากขึ้น และมีการสร้างภูมิต้านทานโรคดีขึ้น การพิจารณาลดแหล่งความเครียดอาจทำได้ดังนี้

        1) โรงเรือนที่สัตว์อยู่อาศัยควรอยู่สบาย มีการรับความร้อนจากตัวสัตว์ได้ดี สัตว์อยู่แล้วสบาย ไม่หอบในช่วงอากาศร้อน แดดไม่ส่อง ฝนไม่สาด โรงเรือนที่สัตว์อยู่แล้วสบาย ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรือนราคาแพง อาจเป็นโรงเรือนฟื้นคอนกรีต หลังคามุงจาก แต่มีการออกแบบก่อสร้างอย่างถูกต้อง ก็เป็นโรงเรือนที่ดีได้ โรงเรือนพื้นคอนกรีตสแลตเลี้ยงสุกรขุน ช่วงหน้าร้อนตัวสัตว์จะหอบมาก และชักนำทำให้สัตว์ป่วยได้ง่ายก็ถือว่าเป็นโรงเรือนที่ไม่เหมาะสมตัวสัตว์มิได้คำนึงถึงราคาโรงเรือน แต่จะคำนึงถึงความสบายในการอยู่อาศัยเป็นหลัก โรงเรือนราคาถูกแต่สัตว์อยู่แล้วสบายถือว่าใช้ได้มีความเหมาะสม แม้โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ในราคาแพงแต่สัตว์อยู่แล้วไม่สบายและมีความเครียดก็ถือว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงสัตว์

        2) ความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์ ยิ่งเลี้ยงแน่นเท่าใด ตัวสัตว์จะยิ่งเครียดมาก และทำให้ตัวสัตว์มีโอกาสป่วยเป็นโรคได้ง่าย การเลี้ยงสัตว์ในเขตอากาศร้อนในโรงเรือนไม่ปรับอากาศ อาจต้องลดความหนาแน่นลงมา หรือเลี้ยงที่ความหนาแน่นน้อยกว่าเขตอากาศหนาว ก็จะช่วยลดการป่วยของสัตว์ได้มาก

        3) การเติบโตและการให้ผลผลิตของสัตว์ สัตว์ยิ่งโตเร็วหรือให้ผลผลิตมากยิ่งมีความเครียดในร่างกายมาก และมีความทนทานจากความเครียดภายนอกได้น้อยลง หากสภาพแวดล้อมภายนอกก่อให้เกิดความเครียดแกตัวสัตว์มาก การที่สัตว์โตเร็วก็จะยิ่งป่วยง่าย การลดการเติบโตหรือการให้ผลผลิตของสัตว์ลงมาเล็กน้อย จะช่วยทำให้สัตว์ลดการเจ็บป่วยลง หรือ อาจจะต้องลดสภาวะความเครียดภายนอกลงเพื่อให้สัตว์มีสุขภาพดี โดยที่ยังให้การเติบโตและผลผลิตอย่างเต็มที่

        4) สารพิษในอาหารสัตว์ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดที่สำคัญต่อสัตว์อย่างหนึ่ง สัตว์ยิ่งโตเร็วและให้ผลผลิตสูงยิ่งต้องการอาหารที่สะอาดปราศจากสารพิษต่างๆ หรือมีการปนเปื้อนสารพิษน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สัตว์ยังคงสร้างภูมิต้านทานโรคที่เพียงพอในของตัวสัตว์ให้ผลผลิตได้สูงสุด การใช้วัตถุดิบอาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนด้วยสารพิษ เช่น ข้าวโพดที่มักมีการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อรา ได้แก่ อะฟลาทอกซิน ซีราลีโนน ฯลฯ หรือ กากเรปซีค สารพิษกลูโคซิโนเลต เป็นองค์ประกอบต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะสัตว์เลี้ยงยุคใหม่มีความไวต่อความเครียดและไม่สามารถทนทานต่อสารพิษเหล่านี้ได้เช่นสัตว์เลี้ยงสมัยก่อนที่ให้ผลผลิตต่ำแต่มีความทนทานต่อความเครียดมากกว่า ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ยุคใหม่ต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนด้วยสารพิษเชื้อรา จึงทำให้เลี้ยงสัตว์แล้วมีประสิทธิภาพดี ข้าวโพดที่มีการปนเปื้อนสารพิษเชื้อรามักทำให้สัตว์จะป่วยบ่อยต้องใช้ยามาก รวมทั้งอาจมีอัตราการตายสูงด้วย การใช้กาก เรปซีคในอาหารสุกรยุคใหม่ก็แนะนำให้ใช้น้อยลงหรือไม่ใช้เลย เพราะสัตว์ยุคใหม่ไม่ทนทานต่อสารพิษในอาหาร และก่อให้เกิดผลเสียเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งใช้กาก เรปซีคเพียงเล็กน้อยในสูตรอาหาร

        5) การเลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่มีการย่อยได้ดี เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเอ็กทรูด ฯลฯ โดยเฉพาะแป้งที่ย่อยง่ายจะช่วยลดความเครียดจากการกินอาหารของสัตว์ นอกจากนี้แป้งที่ย่อยง่ายอาจช่วยกระตุ้นการเติบโต ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในทางเดินอาหารของสัตว์ และทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคไม่สามารถทำอันตรายต่อ ร่างกายสัตว์ได้ ซึ่งก็เป็นการช่วยให้สัตว์มีสุขภาพดีและไม่ต้องใช้ยาในการเลี้ยงทางหนึ่งด้วย ผลการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารชนิดต่างๆ พบว่าช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น และสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ไปได้มากและในหลายกรณีอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์เลย

        6) การใช้วัตถุที่เติมในอาหารที่ช่วยในการย่อย การดูดซึมสารอาหาร รวมทั้งสารที่ช่วยในการควบคุมเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กรดอินทรีย์เอนไซม์ผสมอาหารโปรไบโอติค พรีไบโอติด ซัมไบโอติคฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น และสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์ลงได้มาก และในหลายกรณีไม่จำเป็นต้องใช้เลย การใช้สารดูดซับสารพิษเชื้อราในอาหาร เช่น สารกลุ่มอะลูมิโน ซิลิเกต ได้แก่ พวกสารซีโอไลท์ และเบนโทไนท์ ช่วยดูดซับสารพิษในอาหาร เช่นสารพิษอะฟลาทอกซิน รวมทั้งดูดซับก๊าซแอมโมเนีย ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดความเครียด จากการกินอาหารของสัตว์ ซึ่งก็ช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น มีภูมิต้านทานโรคสูงขึ้นและลดการใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์อย่างเห็นได้ชัด

 

5. สรุป

        การเลี้ยงสัตว์ยุคใหม่ต้องมีการใช้ยาและสารเคมีต่างๆ ลดน้อยลงหรือไม่ใช้เลยเพื่อให้เนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์มีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นจะต้องพึ่งภูมิต้านทานโรคสัตว์โดยธรรมชาติที่มีในตัวสัตว์มากขึ้น เพราะภูมิต้านทานโรคสัตว์ถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุด เนื่องจากมีความยืดหยุ่น มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวเข้ากับเชื้อโรคได้ทุกประเภท สัตว์จะมีการสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี เมื่อมีการกินอาหารที่มีคุณภาพดี และมีการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียดน้อยที่สุด อยู่สบายซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าหากภูมิต้านทานโรคของสัตว์ทำงานอย่างเต็มที่แล้วนอกจากสัตว์จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคง่ายไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ สารเคมีในการเลี้ยง เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี ไม่มีสารตกค้าง เนื้อมีรสชาติดีขึ้นด้วยแล้ว ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์นั้นยังต่ำด้วย และเป็นหนทางในการเลี้ยงสัตว์ แบบยั่งยืนในอนาคต

Visitors: 395,710