พันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม....ที่ท่านต้องรู้

พันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม....ที่ท่านต้องรู้

ผศ.น.สพ.ชาตรี  คติวรเวช

ภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

        นักศึกษาคนหนึ่ง ฉลาดหลักแหลม แต่มีปัญหาครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งตลอด อ่านหนังสือสอบไม่ค่อยได้ พอตอนสอบทำข้อสอบไม่ได้คะแนนต่ำตลอด ในทางกลับกัน นักศึกษาอีกคนหนึ่ง ไม่ฉลาด หัวไม่ค่อยไว ไปไม่คอยรอด อาศัยลูกขยัน อ่านทบทวนก่อนสอบหลายรอบ มีคนติวให้อย่างเข้มข้น พอตอนสอบทำคะแนนได้สูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่ง ท่านคิดว่าระหว่างนักศึกษาทั้ง 2 คนนี้ ใครเก่งกว่ากัน ท่านจะเลือกใครเข้ามาทำงานในฟาร์มของท่าน?

        การทำข้อสอบให้คะแนนสูงสุด เป็นเพียงรูปกายที่จับต้องได้ เพราะมันสามารถชั่ง ตวง วัด ให้คะแนนได้ และเป็นวิธีการคัดเลือกวิธีหนึ่งที่เป็นตัวแทนของการวัดว่าใครเก่งกว่ากัน ซึ่งจะเหมารวมความไปถึงพันธุกรรมของไอคิวที่มีอยู่ในนักศึกษาทั้ง 2 คนนั้นด้วย

        แต่จากความเป็นจริงข้างต้น ไม่มีใครทราบได้ว่าใครมีพันธุกรรมของความฉลาด หลักแหลมมากน้อยกว่ากัน การทำข้อสอบได้คะแนนสูงขึ้น เป็นเพียงลักษณะปรากฏหรือฟีโนไทป์ที่แสดงออกมาให้ทุกคนเห็น แต่อาจจะเป็นเพียงเปลือกนอกที่ถูกฉายหลอกเอาไว้

        ผมไม่ได้หมายความว่านักศึกษาคนที่ 2 ไม่ดี ทำไม่ถูกต้อง แต่ในมุมมองขณะนี้ อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทและทำให้การแสดงออกนั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในเรื่องของประเด็นการสอบ นักศึกษาแต่ละคนจะมีความพยายามสอบให้ผ่านและได้คะแนนสูงสุดเป็นที่ตั้งอยู่แล้วมีแต่ได้กับได้

        แต่การทดสอบพ่อแม่พันธุ์สุกรในฟาร์มหรือในสถานีทดสอบกลางแล้ว การคัดเลือก 5 อันดับสูงสุด (ยกตัวอย่าง) มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ จึงมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคะแนนนักศึกษาดังกล่าวที่จะสอบตก (หมายถึงคัดเลือกผิดตัว) และสุกรที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี หุ่น รูปร่างสวยเลิศไร้เทียมทาน แต่ถ่ายทอดพันธุกรรมได้ยอดแย่ อันนี้ก็ถือว่าสอบตกแบบได้ที่โหล่เลยเช่นกัน

        เจ้าของฟาร์มสุกรต้องการพ่อแม่พันธุ์ชั้นเลิศเข้ามาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สุกรภายในฟาร์ม การแสดงออกที่ให้ทุกท่านเห็นในสุกรแต่ละตัวจึงอาจจะถูกฉาบหลอกเอาไว้ ซึ่งเป็นผลของสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแสดงออกของพันธุกรรม โดยเฉพาะลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งหลาย

        สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องจัดการและทำให้นิ่ง คงที่ภายในฟาร์มเสียก่อน นั่นจึงหมายความว่า การจะปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการจัดการด้านอาหารและการจัดการฟาร์มให้สม่ำเสมอ คงที่และอยู่ในระดับดีจนถึงดีที่สุดก่อน

        นอกจากนั้น หากเจ้าของฟาร์มสุกรนำเข้าสุกรพ่อแม่พันธุ์ตัวเป็นๆ มาจากต่างประเทศ หากสุกรสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ การแสดงออกของพันธุกรรมจึงอาจจะถูกแสดงออกมาคล้ายๆ กับนักศึกษาคนแรก แสดงออกได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก อากาศที่ร้อนขึ้น อบอ้าวอาหารที่มีความแตกต่างไปจากวัตถุดิบดั้งเดิม การจัดการ การดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นผลกระทบที่ทำให้สุกรพ่อแม่พันธุ์แท้บางตัวตายได้ หรือไม่ถูกคัดเลือกมาทำพันธุ์ต่อไป

        ดังนั้น การนำเข้าพันธุ์สุกรชั้นเลิศที่ท่านคิดว่าดีที่สุดในประเทศไทย นอกจากจะได้โรคใหม่ๆ แถมมาแล้ว (จากประสบการณ์ในอดีต) สุกรชั้นดีเลิศ ดีที่สุดในระดับประเทศก็ไม่ได้ตอบโจทย์ได้แค่ศักยภาพบางอย่างที่พอถ่ายทอดและแสดงออกมาได้ระดับหนึ่งที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรก้าวหน้าไป

        แต่ท่านคิดหรือไม่ว่า ความก้าวหน้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแวดวงการเลี้ยงสุกรที่เป็นอุตสาหกรรมในบ้านเรา มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดการและอาหารที่พัฒนาขึ้น จึงทำให้การแสดงออกทางพันธุกรรมของสุกรนั้นดีขึ้นด้วย เช่นเดียวกับนักศึกษาคนที่ 2 แล้วพันธุกรรมสุกรของประเทศไทยจะดีขึ้นจริงๆ บ้างได้ไหม

        เราหวังพึ่งแต่เทคโนโลยีว่าจะมาช่วยเราในทุกๆ ด้าน เทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาช่วยและประสบความสำเร็จอย่างจริงจังมาโดยตลอด เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างนั้นหรือที่ทำให้คนเรายึดทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้เทคโนโลยีว่าคือพระเจ้าหรือเป็นคนทันสมัย สำหรับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ทั้งหลาย คงต้องใช้วิจารณญาณกันให้มากกว่านี้ สุดท้ายทุกคนมัวแต่นั่งรอเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเร่งให้การปรับปรุงพันธุ์สุกรเป็นไปตามความฝันที่เราฝันเพ้อเจ้อเอาไว้

        อุปสรรคสำคัญนั้นคืออะไรเล่า สิ่งนั้นคือ “สิ่งแวดล้อม” ไง ซึ่งประเทศไทยไม่เหมือนกับในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย การนำพันธุกรรมของคนอื่นมาใช้ จึงไม่เหมือนการนำพันธุกรรมที่มีอยู่ในประเทศเรามาใช้เอง

        เปรียบเทียบเช่นเดียวกับคนไทยที่มีฝีมือด้านการทำอาหารไม่แพ้ชาติใดในโลก หากเอ่ยถึงส้มตำ แต่ให้คนต่างชาติมาตำส้มตำให้ท่านกิน จะไปรอดไหม ไม่ได้ดูถูกคนต่างชาติ แต่อยากจะสื่อว่า หากอยากกินส้มตำ ทำไมไม่ตำเอง มันก็แค่นั้น

        ในต่างประเทศไม่ได้มีอากาศแบบร้อน ชื้น ฝนตกชุกที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรเหมือนประเทศไทย การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของเขา จึงมุ่งหมายไปในแต่ละประเทศของเขาเอง ประสบการณ์การแก้ปัญหาของประเทศไทยจึงแตกต่างจากต่างประเทศ

        ดังนั้น การนำสิ่งใดๆ เข้ามาใช้ในประเทศไทยจึงสู้คนไทยทำเองไม่ได้ เปิดใจยอมรับ และเปิดโอกาสให้คนไทยที่รู้จริงเข้าไปพัฒนาและวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์สุกรอย่างเป็นระบบ ภายใน 10-50 ปีข้างหน้า เผื่อจะมีความหวังและโอกาสที่เกิดขึ้นได้เร็วกว่า

        นอกจากนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมของแต่ละฟาร์มในประเทศไทย มีความหลากหลายและแตกต่างค่อนข้างมากมายในแต่ละพื้นที่ แล้วแต่หลักการและทฤษฎีที่ไม่เหมือนกันของเจ้าของฟาร์มแต่ละคน ความรู้และองค์ประกอบทั้งหลายจะมาช่วยขจัดสิ่งแวดล้อมให้ออกจากพันธุกรรมได้อย่างไร จึงจะสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สุกรได้ถูกตัว ถูกที่ ถูกเวลา จึงเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับปรุงพันธุ์สุกร

        เมื่อเทคโนโลยีไม่มีคำตอบสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สุกรในเร็ววันนี้ การเริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการปรับปรุงพันธุ์ คำตอบของการแยกสิ่งแวดล้อมออกจากพันธุกรรมที่ทุกท่านปฏิบัติได้ทันทีคือ “การจดบันทึกข้อมูลภายในฟาร์ม”  ให้ละเอียด ถูกต้อง ชัดเจนในทุกๆ แง่ทุกมุม ทุกๆ รายการ นั่นคือท่านได้จดบันทึกข้อมูลสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดยิบ ยิ่งละเอียดมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คัดเลือกสุกรได้ถูกตัวมากขึ้นเท่านั้น

        เมื่อข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่ท่านจดทุกอย่างนำมาวิเคราะห์ประเมินพันธุกรรมแล้ว สุกรที่ผ่านการทดสอบจึงเป็นสุกรที่มีพันธุกรรมที่ท่านต้องการ ผ่านการสอบคัดเลือกนำไปปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ผนวกกับการวางเส้นทางหรือแผนการปรับปรุงพันธุ์ในฟาร์มของท่าน ขาแข็งแรง ลูกดก โตเร็ว ทนโรค ฯลฯ ในระยะเวลา 5 – 50 ปี ในระดับประเทศไทย พันธุ์สุกรที่ควรและต้องมีประกอบด้วยอะไรบ้าง ? ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นได้แน่นอนในปัจจุบัน

        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เริ่มที่ตัวท่านเองได้ทันที จากการเปลี่ยนแปลง และสร้างความคุ้นชินในการรักษาวินัยในการจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด ภายในฟาร์มของท่านเสียก่อน แค่นี้ง่ายๆ ท่านทำด้วยตัวเองได้และทำได้ทันที

 

ขอบคุณวารสารโลกสุกร ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2558

 

Visitors: 396,581