อาหารฉายรังสี ปลอดเชื้อ ปลอดภัย

อาหารฉายรังสี ปลอดเชื้อ ปลอดภัย

 

        นับตั้งแต่วิลเฮล์ม เรินต์เกน (Wilhelm Rontgen) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันค้นพบรังสีเอ็กซ์ (X-Rays) ในปี 2438 บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างตื่นตัวและศึกษาหาประโยชน์จากรังสี โดยหนึ่งในนั้นคือการศึกษาผลกระทบของรังสีต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นก้าวแรกของการใช้รังสีเพื่อการถนอมอาหาร กระทั่งในปี 2448 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษประสบความสำเร็จในการทดลองกำจัดเชื้อแบคทีเรียในอาหารด้วยรังสี จึงได้จดสิทธิบัตรการใช้รังสีถนอมอาหารเป็นครั้งแรก

        ในปี 2463 สหรัฐอเมริกาได้มีการใช้รังสีถนอมอาหารเป็นครั้งแรกเพื่อกำจัดพยาธิ Trichinella spiralis ในเนื้อสุกร นับจากนั้นเป็นต้นมาการฉายรังสีเพื่อการถนอมอาหารก็ได้มีการศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จนมีการจัดทำข้อกำหนดและมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารฉายรังสีที่นานาชาติให้การรับรอง

        การฉายรังสีอาหาร คือ การใช้พลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฉายไป ยังอาหาร ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม โดยอาหารที่นำมาฉายรังสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ เมล็ดพืช แป้ง ผัก ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ในการฉายรังสีอาหารคือ ควบคุมการงอกของพืชหัว ชะลอกการสุกของผลไม้ ยืดอายุการเก็บรักษา หรือระหว่างการขนส่ง ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลงที่อาจติดมากับพืชผลทางการเกษตร ลดปริมาณจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งทำลายเชื้อจุลินทรีย์และพยาธิในอาหาร

        สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่อง “กำหนดอาหารอาบรังสีเป็นอาหารที่ควบคุม” ตั้งแต่ปี 2515 หลังจากนั้นในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารฉายรังสี เพื่อป้องกันมิให้มีการนำกระบวนการฉายรังสีเพื่อปิดบังข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์และปริมาณรังสีดูดกลืนที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสามารถคงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ได้ ส่วนการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารฉายรังสีนั้นมีหลายเทคนิค เช่น เทคนิคทางเคมี โดยวิเคราะห์สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกรดไขมันในอาหารหลังจากฉายรังสีโดยการตรวจวัดสารกลุ่ม 2-Alkylcyclobutanones ด้วยเครื่อง Gas chromatograpy – mass spectrometer ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ หรือเทคนิคทางชีวภาพ ได้แก่ DNA comet assay ที่เป็นการแยกชิ้นส่วนดีเอ็นเอด้วยกระแสไฟฟ้าและความต่างศักย์ที่เหมาะสม ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอที่แตกหักที่จะเคลื่อนที่ออกจากเซลล์เกิดลักษณะเป็นหางไปทางขั้วบวก ซึ่งความยาวของหางและปริมาณดีเอ็นเอในส่วนหางจะสามารถระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับปริมาณรังสีที่ได้รับ และเทคนิคทางกายภาพ ได้แก่ Electron Spin Resonance (ESR), Thermoluminescence (TL) และ Photostimulated Luminescence (PSL) โดยเทคนิค TL และ PSL อาศัยหลักการสสารเก็บสะสมพลังงานที่ได้รับจากการฉายรังสีไว้แล้วจะปล่อยพลังงานออกมาหลังจากถูกกระตุ้นด้วยพลังงานที่เหมาะสมโดยเทคนิค TL เป็นเทคนิคที่ใช้ความร้อนกระตุ้นให้เกิดการเรืองแสงส่วน PSL จะใช้พลังงานแสงในช่วงอินฟราเรดกระตุ้นซึ่งการตรวจวัดด้วยวิธี TL จะให้ความถูกต้องแม่นยำสูงกว่า PSL แต่วิธีการในการเตรียมตัวอย่างจะซับซ้อนมากกว่า

        เมื่ออาหารฉายรังสีผ่านเกณฑ์คุณภาพแล้ว ผู้ผลิตจะต้องแสดงรายละเอียดในฉลากอาหารอย่างครบถ้วน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลาก และประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารนั้น ซึ่งประกอบด้วย 1) ชื่อและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี 2) ข้อความว่า “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายทำนองเดียวกัน 3) วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี ด้วยข้อความว่า “เพื่อ.......” (ข้อความที่เว้นไว้ ให้ระบุวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง) 4) แสดงเครื่องหมายการฉายรังสี (Radura) ใกล้กับชื่อของอาหาร 5) วัน เดือน และปี ที่ทำการฉายรังสี

        ประกาศดังกล่าว สอดคล้องกับมาตรการอาหารฉายรังสีขอสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรายสำคัญของประเทศไทยจะแตกต่างกันก็เพียงสหภาพยุโรประบุว่า การนำเข้าอาหารฉายรังสีจากประเทศนอกสหภาพยุโรป ต้องผ่านการฉายรังสีจากหน่วยงานที่คณะกรรมิการยุโรปส่งคณะเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและรับรองแล้วเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทย ได้แก่  ศูนย์ฉายรังสี  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไอโซตรอน (ประเทศไทย) จำกัด

        ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคภายในประเทศจึงมั่นใจได้ในคุณภาพของอาหารฉายรังสีที่ดำเนินการโดยหน่วยงานฉายรังสีซึ่งจัดตั้งถูกต้องตามมาตรฐาน ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่อ้างอิงจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ขณะที่ผู้ประกอบการก็มั่นใจได้ว่า ข้อกำหนดและมาตรการของภาครัฐที่สอดคล้องกับนานาชาติ จะช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีความมั่นคง น่าเชื่อถือ ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงต่อไป

 

ที่มา : BETAGRO NEWS Issue 2 - July 2015

Visitors: 395,551