FMD จากอดีตจนถึงปัจจุบัน : ทำอย่างไรถึงจะควบคุมและป้องกันโรคอย่างได้ผล

FMD จากอดีตจนถึงปัจจุบัน : ทำอย่างไรถึงจะควบคุมและป้องกันโรคอย่างได้ผล”

โรงพยาบาลปศุสัตว์ ร่วมกับ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการปศุสัตว์สนทนา พ.ศ.2558 ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2558 เวลา 09.00-12.00 น.

ณ ห้อง 144 โรงพยาบาลปศุสัตว์ ศูนย์ฝึกนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม

          โรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับประเทศไทยเป็นโรคประจำถิ่นมาช้านาน ถึงแม้จะมีการยื่นเรื่องขอเป็นเขตปลอดโรคเพื่อการส่งออกแบบใช้วัคซีนในเขตภาคตะวันออก หรือ เขต 2 กับ OIE ไปแล้วซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการรับรองเมื่อไร

          โรงพยาบาลปศุสัตว์ ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดรายการปศุสัตว์สนทนา พ.ศ.2558 ครั้งที่ 1 ระดมนักวิชาการพูดคุยสนทนาหาทางออกในการควบคุมและป้องกันอย่างได้ผล        เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558

          วิทยากรที่ร่วมบรรยาย ประกอบไปด้วย ส.พญ.วิไล  สินจงสุบงกช ที่ปรึกษาด้านโรคปากและเท้าเปื่อย กรมปศุสัตว์, น.สพ.สมเกียรติ  เพชรวาณิชกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์, น.สพ.จำลอง วรศรี สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 กรมปศุสัตว์, ผศ.น.สพ.ดร.เดชฤทธิ์  นิลอุบล  ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.น.สพ.ดร.ฐานิสร์  ดำรงวัฒนโภคิน ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข/ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร.อรรณพ  คุณาวงษ์กฤต ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการสัมมนา และมี ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์  ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานกล่าวเปิดสัมมนา

          ส.พญ.วิไล กล่าวในประเด็นของสาเหตุและลักษณะทั่วไปของโรค FMDโดยกล่าวว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดสัตว์ที่ร้ายแรงติดต่อง่าย และแพร่กระจายรวดเร็ว เกิดขึ้นในสัตว์กีบทุกชนิด ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ช้าง อูฐ กวาง และสัตว์กับคู่อื่นๆ เป็นต้น สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสแอฟโทไวรัสจัดอยู่ในกลุ่ม Picornavirus ขนาด 28 nm รูปร่าง Icosahedral single stranded RNA, 8.4 kb

          ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ไทป์ ได้แก่ ไทป์ O, A, C, Asia 1, SAT1, SAT2, และ SAT3 ประเทศไทยเคยพบระบาด 3 ไทป์ คือ ไทป์ O, A และ Asia 1 แต่ปัจจุบันไม่พบว่าไทป์ Asia 1 ระบาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2541 จนกระทั่งทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังสามารถแบ่งไวรัสออกเป็นชนิดย่อยๆ (Subtype) ได้อีก 64 แต่ปัจจุบันไม่มีการตรวจสอบในระดับนี้แล้ว เนื่องจากนิยมใช้วิธี vaccine matching เพราะการทดสอบรวดเร็วกว่า VN test, CF test ซึ่งเป็นวิธีใช้ตรวจสอบระดับไทป์ย่อย เนื่องจากขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลานานมาก

          รอยโรค  พบว่า ภายใน 24-48 ชั่วโมง จะมีเม็ดตุ่มใสบนลิ้นหรืออุ้งเท้า และ 2-3 วัน เม็ดตุ่มนั้นก็จะเริ่มแตกลอก พอเข้าสู่วันที่ 4-5 จะเกิดการลอกหลุดของเนื้อเยื่อและเมื่อครบ 7 วันไปแล้วรอบแผลจะเริ่มหาย ส่วนการตรวจวินิจฉัยโรคหากสังเกตจากอาการของสัตว์ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นไทป์อะไร การจะบ่งบอกได้ว่าเป็น FMD ไทป์อะไรต้องใช้วิธีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ

          การติดต่อและการแพร่เชื้อโรค  โดยการสัมผัสโดยตรง การเคลื่อนย้ายสัตว์พาหะ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อส่วนปัจจัยการติดต่อขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่สัตว์ได้รับเข้าสู่ร่างกาย และทำให้เกิดโรค ความไวต่อการติดโรคเช่น โค กระบือ จะไวต่อการติดเชื้อ สุกรติดเชื้อได้บางสายพันธุ์ แกะติดโรคได้ง่ายแต่ไม่แสดงอาการและระดับภูมิคุ้มกันในตัวสัตว์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน

          การป้องกันและการควบคุมโรค  วิธีที่ดีที่สุดคือให้ทำลายสัตว์ที่ป่วยทิ้งทันที การควบคุมการเคลื่อนย้ายก็สามารถทำได้ รวมถึงการควบคุมบุคคลเข้า-ออกฟาร์มหรือพื้นที่ที่เกิดโรคอย่างเคร่งครัด มีการเฝ้าระวังโรคอย่างจริงจัง ได้แก่ การตรวจสอบทาง Sero surveillance สัตว์ในพื้นที่ โดยเจาะเลือดตรวจหาระดับภูมิคุ้มกัน (LP EL SA) ควบคู่กับการตรวจสอบสภาวะการสัมผัสเชื้อ (NSP test) เพื่อคัดเลือกสัตว์ที่ได้รับการติดเชื้อออกจากฝูง

          การฉีดวัคซีน  มีข้อจำกัดในเรื่องของสเตรนคือไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีนต้องตรงกับชนิดหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันวัคซีนที่ใช้ต้องมีคุณภาพและผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน OIE ไม่ฉีดในสัตว์ที่ได้รับการติดเชื้อและต้องฉีดในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ลูกสัตว์ต้องฉีดในช่วงไม่มีภูมิคุ้มกันจากแม่ และการฉีดครั้งแรกต้องฉีดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนทุก 6 เดือนและต่อเนื่อง ในพื้นที่ที่มีโรคระบาดควรฉีดทุก 3-4 เดือนแต่ต้องฉีดให้สัตว์ในช่วงที่ยังไม่ได้รับการติดเชื้อ ฉีดวัคซีนในสัตว์ตั้งท้องได้โดยไม่เกิดการแท้ง เพียงแต่ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการจับสัตว์ ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามข้อบ่งใช้และเก็บวัคซีนในอุณหภูมิที่กำหนด ทุกครั้งที่ใช้วัคซีนต้องคำนึงถึงสุขภาพสัตว์เป็นสำคัญ

          ปัจจุบันการควบคุมและป้องกันการระบาดโรค FMD ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีปัจจัยหรือปัญหาที่สำคัญคือ ใช้วัคซีนไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัสในพื้นที่โดยเฉพาะไทป์ A การตรวจระดับภูมิคุ้มกันและการตรวจ NSP รวมทั้งการวิเคราะห์ผลยังมีความสับสน การเก็บตัวอย่างจากสัตว์ป่วยเพื่อตรวจไม่ถูกต้อง สุดท้ายคือ ขาดความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชนและเกษตรกร

          น.สพ.สมเกียรติ  กล่าวในส่วนของวัคซีนและการผลิตวัคซีน FMD ของกรมปศุสัตว์โดยกล่าวว่า สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ เดิมเรียกว่า กองวัคซีน มีอำนาจหน้าที่ในการวิจัยและผลิตวัคซีน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตวัคซีน 5 โรงงาน คือ โรงงานผลิตวัคซีนปากและเท้าเปื่อยสำหรับสุกร, โรงงานผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับโคและกระบือ, โรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ปีก, โรงงานผลิตวัคซีนแบคทีเรียและแอนติเจน และโรงงานผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรและกาฬโรคเป็ด

          วัคซีนที่ผลิตได้ปัจจุบันมี 13 ชนิด และอีก 4 แอนติเจน ได้แก่ วัคซีนสำหรับโค กระบือ แพะ แกะ วัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย, เฮโมรายิกเซพติซีเมีย, บลูเซลโลซีส, แบลคเลก และแอนแทรกซ์ วัคซีนสำหรับสุกร คือ วัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยกับวัคซีนอหิวาต์สุกร วัคซีนสำหรับสัตว์ปีก คือ วัคซีนนิวคาสเซิล ชนิดเชื้อเป็นหลอดลมอักเสบติดต่อในไก่, ฝีดาษไก่, อหิวาต์เป็ด-ไก่, กาฬโรคเป็ด และวัคซีนรวมนิวคาสเซิล และหลอดลมอักเสบติดต่อในไก่ (NEW) ส่วนแอนติเจน ได้แก่ แอนติเจน อุจจาระขาว, บลูเซลโลชีส ชนิดโรสเบงกอล, ชนิดทดสอบในหลอดแก้ว และชนิดทดสอบบนแผ่นกระจก

          สำหรับวัคซีน FMD กระบวนการผลิตมี 7 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนการเตรียมมีเดีย, ขั้นตอนการผลิตเซลล์, ขั้นตอนการผลิตไวรัส (แอนติเจน), ขั้นตอนทำไวรัส (แอนติเจน) ให้เข้มข้นและบริสุทธิ์, ขั้นตอนการ Inactive Virus, ขั้นตอนการเก็บไวรัส (แอนติเจน) ไว้ในไนโตรเจนเหลว และสุดท้ายคือการผสม

          อย่างไรก็ตาม วิธีการผลิตวัคซีนโดยทั่วไปจะมี 2 รูปแบบ คือ แบบดั้งเดิม หรือ classical inactivate vaccine วิธีนี้มีจุดเด่นคือ ได้ปริมาตรแอนติเจนสูง เตรียมเป็นวัคซีนได้หลายซีโรไทป์ แต่มีข้อด้อยคือต้องใช้อาคารที่มีระบบ Biosafety ระดับ 3 ซึ่งมีความเข้มงวด อีกรูปแบบคือ Next generation หรือวัคซีนรูปแบบใหม่ วิธีนี้มีจุดเด่นไม่ต้องใช้ Biosafety ระดับ 3 สามารถลดเวลาการวิจัย และคัดเลือกยีนที่ต้องการใช้เป็นวัคซีนได้รวดเร็วแต่มีจุดด้อยคือ ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ยังไม่มีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ยกเว้นประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา

          แม้วัคซีนจะเป็นวิธีการหนึ่งในการควบคุมและป้องกันโรค แต่วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมและป้องกันโรค FMD การป้องกันและควบคุมที่ดี คือ การใช้มาตรการควบคุมทางชีวภาพ หรือไบโอซีเคียวริตี้ ดังนั้นการลดการแพร่ระบาดของโรค FMD เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับระบบไบโอซีเคียวริตี้เป็นหลัก แม้วิธีการและขั้นตอนจะยุ่งยากก็ตาม

          น.สพ.จำลอง  กล่าวในประเด็นการควบคุมและป้องกันในภาคสนาม ซึ่งกล่าวว่าโรค FMD เป็นโรคที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดได้ โดยเฉพาะการแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีที่พบ แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดโรคแล้วมักจะปกปิด เพราะถ้าหากแจ้งแล้วกลัวจะถูกปิดฟาร์ม ถูกห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกและเข้าฟาร์มทำให้ขาดรายได้ ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะปกปิดหรือไม่แจ้งเจ้าหน้าที่

          สำหรับการดำเนินงานหรือมาตรการที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอน นั่นคือเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นและได้รับการแจ้งมา ส่วนแรกที่จะเข้าไปดู คือ ปศุสัตว์อำเภอ จากนั้นปศุสัตว์อำเภอจะแจ้งไปยังปศุสัตว์จังหวัด เพื่อเข้าไปทำการตรวจสอบโรคที่ฟาร์มตามกำหนดคือภายใน 3 วัน พร้อมกับเก็บตัวอย่างนำไปบันทึกในระบบ จากนั้นจะลงพื้นที่ฉีดวัคซีนต่อไปโดยระหว่างนั้นจะไม่มีการเคลื่อนยานสัตว์เข้าและออกพื้นที่โรคระบาด

          มาตรการทั่วไปเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคระบาด จะเน้นไปที่เรื่องของไบโอซีเคียวรีตี้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสัตว์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ เมื่อมีการระบาดของโรค ในส่วนของตลาดนัดวัวควายจะทำการปิดหรือหยุดทำการซื้อขายชั่วคราวจนกว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ นี่คือสิ่งที่ภาครัฐทำมาโดยตลอด แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะไม่สำเร็จเลยถ้าทุกคนไม่พูดความจริง กล่าวคือ ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันโรคคือ ทุกคนต้องพูดความจริง ยอมรับความจริงจึงจะแก้ไขปัญหากันได้จริงๆ

          ผศ.น.สพ.ดร.เดชฤทธิ์  กล่าวในประเด็นของการแพร่ระบาด และสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาโดยกล่าวว่า นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีความรู้สึกว่าสถานการณ์โรคภายในประเทศมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก รวมถึงโรค FMD ด้วย ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ การที่เกษตรกรได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ในทางที่ผิดเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรค

          สถานการณ์ทั่วไปนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึง กรกฎาคม 2557 มีการพบว่าระบาดที่จังหวัดลำพูน กันยายน ลงมาที่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม ลงไปภาคใต้ และลามไปภาคอีสาน โดยเป็นการพบทั้งในไทป์ A และไทป์ O การทำวัคซีนจึงมีการทำทั้ง 2 ไทป์ สาเหตุเกิดจากอะไรและทำไมเกิดนาน ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ การป้องกันจะใช้วิธีการปูพรมทุกๆ 4 เดือน ทั้ง 3 ไทป์ โดยวัคซีนที่ใช้มีการใช้ทั้งวัคซีนที่ผลิตโดยภาครัฐและเอกชน

          อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าการระบาดของโรคมักจะพบปัญหาที่เล้าขายก่อนประมาณ 92% อีก 8% เกิดที่เล้าแม่พันธุ์ในฟาร์มที่ไม่มีโซนป้องกันหรือ Buffer zone ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรคมาจากภายนอกมากกว่าที่มาจากภายในฟาร์มเอง ส่วนที่เกิดกับแม่พันธุ์อาจจะเป็นเพราะเชื้อปลิวผ่านมากับลม เนื่องจากไม่มี Buffer zone ส่วนวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีน A หรือ B ไม่มีผลในการคุ้มโรค

          สิ่งที่อยากแนะนำกรณีเกิดในแม่พันธุ์ให้คัดทิ้งทั้ง 4 ทิศ หมายความว่า คัดสุกรในคอกที่อยู่รอบนอกทั้ง 4 ทิศออก หากเป็นไปได้อย่าให้โรคเข้าในเล้าคลอดปัญหาจะแก้ยาก สุกรขุนไม่มีปัญหา ถ้าเพิ่มเข้ามาก็เคลมใหม่แต่ถ้าใกล้ขายให้จับออกเลย ส่วนการแก้ไขปัญหาในภาพรวมทำในประเทศไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอต้องรอบๆ ประเทศด้วย นั่นคือทั้งอาเซียน

          ผศ.น.สพ.ดร.ฐานิสร์  กล่าวปิดท้ายสั้นๆ ว่า สาเหตุในการระบาดของโรค FMD ส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนย้ายทั้งสิ้น การจัดการฟาร์มจะช่วยได้ เช่น การนำสุกรเข้าและเลี้ยงแบบเข้าทีเดียวออกทีเดียว พ่นยาฆ่าเชื้อควรทิ้งไว้นาน 30 นาทีก่อนนำเข้า โรงเรือนขายหมูควรอยู่นอกฟาร์ม ที่สำคัญต้องระวังคนหรือบุคลากรในฟาร์มเพราะเป็นตัวพาหะอย่างดี เรื่องของคอมพาร์ตเม้นต์มีข้อจำกัดคือ ทุกส่วนต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั้งโรงเรือน โรงงานอาหาร ฟาร์ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก

 

          อย่างไรก็ตามหลังการประชุมของ OIE ที่ฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 มุมมองการแจ้งเขตระบาดของ FMD เริ่มเปลี่ยนมามองที่การรับรองคุณภาพและมาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานของโรงเชือดมากขึ้น กับกรณีของอาฟริกา การยืดหยุ่นใหม่นี้จะทำให้เกิดการยอมรับความเป็นจริง ทำให้เกิดผลได้กับทุกๆ ฝ่ายในลักษณะ Win-Win เป็นการเปิดโอกาสการค้าเนื้อวัวควายและสุกรในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะเกาะติดมุมมองนี้ต่อไป

Visitors: 396,418