กินอยู่อย่างไรให้มีความสุขในวัย 83 ปี กับอาจารย์นาม ศิริเสถียร อดีตอาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ถ้าเรานึกถึงสุภาพบุรุษวัย 83 ปี เชื่อเหลือเกินว่าหลายท่านคงเกิดสัญญาขันธ์ขึ้นมาทันทีถึงภาพชายที่ชรามาก แต่กับท่านผศ.นาม ศิริเสถียรแล้ว ภาพที่แต่ละท่านจินตนาการหรือมโนไปต่างๆ นานาอาจผิดเพี้ยนไปเยอะ

 

ท่าน ผศ.นาม ศิริเสถียร หรือ อาจารย์นามของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาในวงการสัตวศาสตร์ของไทยอดีตในระหว่างรับราชการท่านเป็นอาจารย์ในภาควิชาสัตวบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์นามเป็นครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างมากต่อวงการสุกรของไทย ฉบับนี้วารสารสุกรได้นำเรื่องของท่านเกี่ยวกับข้อแนะนำให้แก่สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรมาเผยแพร่เลยถือโอกาสไปเยี่ยมคารวะ และนำเรื่องการใช้ชีวิตอย่างไรในวัย 83 ปีให้มีความสุข โดยมีเรื่องราวนานาสาระมาฝากมากมาย

 

อาจารย์จะดูแลเรื่องอาหารการกิน นอกจากอาหารปักษ์ใต้ที่เป็นเมนูโปรด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมนูสุขภาพอยู่แล้ว ส่วนน้ำดื่มจะดื่มน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น ซึ่งจะมีประโยชน์ เช่น จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงตามเซลล์ต่างๆในร่างกาย ส่งผลให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นปกติ เราจึงแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย  ช่วยดีท็อกซ์ร่างกาย ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ

จำนวนอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อมีความสำคัญมาก อาจารย์แนะนำให้กินอย่าถึงกับอิ่มจนเกินความต้องการของร่างกาย อาจารย์นามยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น คนที่อ้วน คนที่อิ่มแล้ว แต่ยังกินต่อนั่นเป็นเพราะความอยาก ไม่ใช่ความจำเป็นของร่างกายจะทำให้เรามีอายุสั้นลง ถ้าอวัยวะในร่างกายเราสามารถพูดได้คงโวยวายกับคนที่กินแบบไม่บันยะบันยังซึ่งมีแต่จะทำอันตรายให้ร่างกายเรา


สมัยพุทธกาลพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยแล้วทรงอึดอัดมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสคาถานี้ว่า

                   มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ
                   รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว
                   ย่อมมีเวทนาเบาบาง
                   เขาย่อมแก่ช้า อายุก็ยืน

หลังจากนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำรงอยู่ได้โดยเสวยพระกระยาหารพอประมาณ ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระวรกายกระปี้กระเปร่า ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งอุทานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในภายหน้าอย่างแท้จริง

 

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว อาจารย์นามจะตื่นเช้าประมาณตี 4 จัดการภาระกิจส่วนตัว ไปตลาดใส่บาตรพระยามเช้า ระหว่างวันจะใช้เวลานอกจากการอ่านเขียนหนังสือแล้ว จะมีกิจกรรมในสวนรอบบ้านซึ่งมีไม้ประดับ ผักสวนครัวนานาชนิด และอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ปฏิบัติเสมอมาคือการปฏิบัติธรรมในระดับสมถะ คือระดับที่ทำจิตใจสงบมีสติ และแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรและผู้ที่ระลึกถึงทั่วไปทั้งล่วงลับและทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยอาจารย์จะเน้นเป็นพิเศษเรื่องการทำงานให้แผ่นดินเกิด การประกอบสัมมาชีพและการใช้ชีวิตต้องเป็นไปโดย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หรืออธิบายง่ายๆ คือ พูดดี คิดดี ทำดี โดยอาจารย์ห่วงในกรณีถ้าไม่ปฏิบัติดีมีธรรมแล้ว ผลของกรรมจะตกกับลูกหลาน โดยการสอนลูกหลานให้เน้นการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี จะได้ผลกว่าการพร่ำสอนด้วยวาจาแต่ไม่ทำตัวให้เป็นตัวอย่างให้ลูกหลานเห็น


สุดท้ายเราจะมาถอดรหัสหลักธรรมที่อาจารย์นามฝากไว้ปฏิบัติกับผู้บริหารสหกรณ์ ว่าเบญจศีล พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 สัตตบุรุษ 7 และนิวรณ์ 5 มีรายละเอียดอะไรบ้าง

 

เบญจศีลคงไม่ต้องแจงเพราะคือศิล 5 นี่เอง ส่วนพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมประจำใจของผู้ใหญ่

เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและตัวเอง

กรุณา คือ มีจิตใจสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นจิตที่สูงกว่า

มุทิตา คือ พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำจิตยากกว่า

อุเบกขา คือ การวางเฉย อุเบกขานี้ยิ่งยากกว่ามุทิตาจิตอีก รักษาใจเป็นกลาง เฉยๆ ต้องเข้าใจกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรรม อุเบกขา ต้องประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา จึงจะเป็นอุเบกขาจริงๆ

 

สังคหวัตถุ 4 หลักธรรมในการครองใจคนประกอบไปด้วย

1.ความเสียสละ (ทาน)  หมายถึง  การช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งปันไม่ขี้เหนียว ไม่เห็นแก่ตัว  อาจเป็นการเสียสละกำลังกาย  กำลังทรัพย์ และกำลังปัญญา 

2.พูดดี  (ปิยวาจา)  หมายถึง พูดจาอ่อนหวาน  สุภาพไพเราะน่าฟัง พูดแต่คำสัตย์คำจริง  พูดแต่สิ่งที่เป็นสาระมีประโยชน์ พูดประสานความรักความสามัคคี ไม่พูดส่อเสียด ให้ร้ายจนเกิดความแตกแยกในสังคม  เพราะการพูดก็กลายเป็นกระแสจนเกิดผลกระทบได้ไม่น้อยเช่นกัน ส่วนคนฟังก็อย่าหูเบาเชื่อคนง่าย ต้องใช้วิจารณญาณในการฟังตามหลัก กาลามสูตร 10  จึงจะไม่ก่อเกิดความเสียหายต่อสังคม

3.การบำเพ็ญประโยชน์ (อัตถจริยา)   หมายถึง การช่วยเหลือสังคม ทำงานสาธารณะประโยชน์ 

4.การวางตนเหมาะสม (สมานัตตตา)  หมายถึง   การรู้กาลเทศะ ปฏิบัติตนได้เหมาะสม เสมอต้นเสมอปลาย

                สรุป มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า สังคหวัตถุ ก็คือการ  โอบอ้อมอารี  วจีไพเราะ  สงเคราะห์ชุมชน  วางตนพอดี

          สัตบุรุษ ในทางปฏิบัติคือคนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คือ

1.เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการคือศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา

2.ไม่ปรึกษาอะไรที่เบียดเบียนตนและผู้อื่น

3.ไม่คิดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

4.ไม่พูดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

5.ไม่ทำอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

6.มีความเห็นชอบ เป็นสัมมาทิฐิ

7.ให้ทานโดยความเคารพ ไม่ให้แบบทิ้งขว้าง

          สุดท้ายคือนิวรณ์ 5 นิวรณ์ 5 หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ

1.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)

2.พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ

3.ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)

4.อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

5.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น

นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ

 

นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน

 

และทั้งหมดนี้ก็คือของฝากทั้งที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่น่าเอาเป็นแบบอย่างและหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่อาจารย์นามได้หยิบยกมาให้ได้เข้าใจและต้องเริ่มปฏิบัติให้ได้

Visitors: 395,801