การทดสอบภูมิคุ้มกันในซีรั่มด้วยวิธี Serum Neutralization Test (SN)

การทดสอบภูมิคุ้มกันในซีรั่มด้วยวิธี Serum Neutralization Test (SN)

          การตรวจหาภูมิคุ้มกันในซีรั่มมีความสำคัญมากสำหรับฟาร์มสัตว์ เพราะนอกจากใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลสนับสนุนการชันสูตรโรคที่อยู่ในความสนใจแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดการฟาร์ม การป้องกันการรักษา รวมทั้งวางแผนในการควบคุมหรือกำจัดโรคนั้นๆ ออกจากฟาร์มได้อีกด้วย

          การทดสอบเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันในซีรั่มนั้นมีหลายวิธี แต่ละวิธีจะมีความแตกต่างกันด้านความจำเพาะและการนำไปใช้ เช่น Plate Agglutinalion เป็นวิธีทดสอบที่ตรวจหาการติดเชื้อของสัตว์ได้เร็ว แต่มีความจำเพาะต่ำ1 ทำให้เกิดผลบวกเทียม2 ได้ง่าย เหมาะสำหรับเฝ้าระวังฝูงสัตว์ปลอดเชื้อ ส่วนวิธีทดสอบแบบ Enzyme Link Immunosorbent Assay (ELISA) และ Haemagglutination Inhibition Test (HI) สามารถใช้ทดสอบหาภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดจากแม่ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อโดย ELISA จะมีความไวสูง3 จึงมีโอกาสเกิดผลบวกเทียมได้ง่าย ส่วนวิธี HI นั้นเชื้อทดสอบต้องมีคุณสมบัติทำให้เม็ดเลือดจับกันเป็นร่างแหได้ แต่จะมีความจำเพาะสูงและความไวต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวิธี ELISA

          สำหรับฉบับนี้ เราจะกล่าวถึงวิธีทดสอบแบบ Serum Neutralization Test (SN) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน (Gold Standard) ที่มีความจำเพาะสูง นอกจากจะใช้ทดสอบหาภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกับ ELISA หรือ HI แล้วยังสามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิดที่ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ด้วย ในขณะที่ ELISA และ HI นั้นทำให้เราทราบได้เพียงว่าสัตว์มีการสัมผัสเชื้อหรือไม่เท่านั้น

          วิธีนี้ ซีรั่มตัวอย่างจะถูกเจือจาง4 ในอัตราส่วน 1 : 2 เป็นลำดับ5 เมื่อเติมไวรัสที่ต้องการทดสอบในความเข้มข้นและปริมาณคงที่ลงไปในทุกลำดับการเจือจาง หากในซีรั่มที่เจือจางนั้นมีภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสนั้นในปริมาณที่เพียงพอที่จะยับยั้งไวรัสได้ ไวรัสจะไม่สามารถเจริญเติบโตในเซลล์ได้ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ให้สังเกตเห็นได้ แต่ถ้าในซีรั่มที่เจือนั้นมีปริมาณภูมิคุ้มกันที่ไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการเจริญของไวรัสได้ ไวรัสจะเจริญเติบโตในเซลล์และทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าการเกิด Cytopathic Effect (CPE) แต่มีไวรัสบางชนิดที่ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้องย้อมด้วยโมโนโคลนอล แอนติบอดี้6 และสังเกตการณ์ติดสีของเชื้อไวรัส โดยลำดับสูงสุดของซีรั่มที่ถูกเจือจาง และสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสได้จะถือเป็นค่าไตเตอร์7 ของซีรั่มนั้น

          ปัจจุบันนี้ ห้องปฎิบัติการของบริษัทศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด ให้บริการทดสอบภูมิคุ้มกันโดยวิธี Serum Neutralization Test สำหรับโรค Inclusion Body Hepatitis (IBH) ในไก่ Duck Enteritis (Duck Plaque) ในเป็ด Aujeszky’s Disease (AD) และ Classical Swine Fever (CSF) ในสุกรด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทันสมัย พร้อมเป็นกำลังสำคัญเคียงข้างผู้ประกอบการให้เดินหน้าอย่างมั่นคงตลอดไป

1 ความจำเพาะ (Specificlty) คือ โอกาสที่สัตว์ไม่ติดเชื้อ จะถูกตรวจพบว่าไม่ติดเชื้อ

2 ผลบวกเทียม (False Positive Results) คือ สัตว์อาการปกติ แต่ถูกตรวจว่าติดเชื้อ

3 ความไว (Sensitivity) คือ โอกาสที่สัตว์ติดเชื้อ จะถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ

4 การเจือจางซีรั่มตัวอย่าง (Serum Ditution) คือ การเจือจางซีรั่มด้วยการเติมตัวเจือจาง เช่น น้ำเปล่า น้ำเกลือ หรือสารเจือจางอื่นตามความเหมาะสม ตามอัตราส่วนที่ต้องการ เช่น อัตราส่วน 1:2 คือ ซีรั่ม 1 มล. กับตัวเจือจาง 1 มล. หรืออัตราส่วน 1:3 คือซีรั่ม 1 มล. ตัวเจือจาง 2 มล. เป็นต้น

5 อัตราส่วนนี้คือการเจือจางซีรั่มลงเป็นสองเท่าทุกครั้งที่ทดลอง คือ 1:2, 1:4, 1:8, 1:16, 1:32, 1:64, 1:128,…

6 โมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) คือ สารที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้มีกลไกยับยั้งไวรัสที่ต้องการทดสอบ

 

7 ค่าไตเตอร์ (Titer) คือ บริมาณของ Serum Dilution ในลำดับสูงสุดที่ทำปฏิกิริยากับไวรัส เช่น ถ้าเราทำ Serum Dilution ที่ 1:8 แล้วยังคงยับยั้งไวรัสได้อยู่ จึงทดลองที่ 1:16 ต่อไป แต่ปรากฏว่าไม่สามารถยับยั้งไวรัสได้แล้ว เราจึงถือว่าซีรั่มนั้นมีค่าไตเตอร์เท่ากับ 8


ขอบคุณ Betagro News Issue 1 March 2015

Visitors: 395,647