มาตรฐานฟาร์มสุกร

1.คำนำ

            มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรนี้ กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานเพื่อให้ฟาร์มที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ได้ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้ได้การรับรองจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นเกณฑ์ที่มาตรฐานขั้นพื้นฐานสำหรับฟาร์มที่จะได้รับการรับรอง

2.  วัตถุประสงค์

            มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรนี้กำหนดวิธีปฏิบัติด้านการจัดการฟาร์ม การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้สุกรที่ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมต่อผู้บริโภค

3.  นิยาม

            ฟาร์มสุกร หมายถึง ฟาร์มที่ผลิตสุกรขุนเพื่อการค้า ฟาร์มพ่อ-แม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกสุกร และฟาร์มเลี้ยงสุกร

4.  องค์ประกอบของฟาร์ม

            4.1  ทำเลที่ตั้งของฟาร์ม

            4.1.1  อยู่บริเวณที่มีการคมนาคมสะดวก

            4.1.2  สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม

            4.1.3  อยู่ห่างจากแหล่งชุมชน โรงฆ่าสัตว์ ตลาดนัดค้าสัตว์

            4.1.4  อยู่ในทำเลที่มี แหล่งน้ำสะอาดตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใช้ เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี

            4.1.5  ควรได้รับการยินยอมจากองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

            4.1.6  เป็นบริเวณที่ไม่มีน้ำท่วมถึง

            4.1.7  เป็นบริเวณที่โปร่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี และมีต้นไม้ให้ร่มเงาภายในฟาร์ม

            4.2  ลักษณะของฟาร์ม

            4.2.1  เนื้อที่ของฟาร์ม ต้องมีเนื้อที่เหมาะสมกับขนาดของฟาร์มโรงเรือน 

            4.2.2  การจัดแบ่งเนื้อที่ ต้องมีเนื้อที่กว้างเพียงพอสำหรับการจัดแบ่ง การก่อสร้างอาหารโรงเรือนอย่างเป็นระเบียบ สอดคล้องกับการปฏิบัติงานและไม่หนาแน่จนไม่สามารถจัดการด้านการผลิตสัตว์ การควบคุมโรคสัตว์ สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตามหลักวิชาการ ฟาร์มจะต้องมีการจัดแบ่งพื้นที่ฟาร์มเป็นสัดส่วนโดยมีผังแสดงการจัดวางที่แน่นอน

            4.2.3  ถนนภายในฟาร์ม ต้องใช้วัสดุคงทน มีสภาพและความกว้างเหมาะสมสะดวกในการขนส่งลำเลียงอุปกรณ์ อาหารสัตว์ รวมทั้งผลผลิตเข้า-ออก จากภายนอกและภายในฟาร์ม

            4.2.4  บ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงาน อยู่ในบริเวณอาศัย โดยเฉพาะไม่มีการเข้าอยู่อาศัยในบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ บ้านพักต้องอยู่ในสภาพแข็งแรง สะอาด เป็นระเบียบไม่สกปรกรกรุงรัง มีปริมาณเพียงพอกับจำนวนเจ้าหน้าที่ ต้องแยกห่างจากบริเวณเลี้ยงสัตว์พอสมควร สะอาด ร่มรื่น มีรั้วกั้นแบ่งแยกจากบริเวณเลี้ยงสัตว์ตามที่กำหนดอย่างชัดเจน

            4.2.5  ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นพาหนะนำโรคเข้าไปในบริเวณเลี้ยงสุกร

            4.3  ลักษณะโรงเรือน

            โรงเรือนควรมีขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนสัตว์ ถูกสุขอนามัย สัตว์อยู่สุขสบาย

5.  การจัดการฟาร์ม

            5.1  การจัดการโรงเรือน

            5.1.1  โรงเรือน และที่ให้อาหาร ต้องสะอาดและแห้ง

            5.1.2  โรงเรือนต้องสะดวกในการปฏิบัติงาน

            5.1.3  ต้องดูแลซ่อมแซมโรงเรือนให้มีความปลอดภัยต่อสุกรและผู้ปฏิบัติงาน

            5.1.4  มีการจัดการโรงเรือนเตรียมความพร้อมก่อนนำสัตว์เข้า

            5.1.5  มีการทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อตามความเหมาะสม

            5.2  การจัดการด้านบุคลากร

            5.2.1  ต้องมีจำนวนแรงงานอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนสัตว์เลี้ยง มีการจัดแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรในแต่ละตำแหน่งอย่างชัดเจน บุคลากรภายในฟาร์มควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

            5.2.2  ให้มีสัตวแพทย์ ควบคุมกำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์ภายในฟาร์มโดยสัตวแพทย์ ต้องมีใบอนุญาตประกอบบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง และได้รับอนุญาตควบคุมฟาร์มจากกรมปศุสัตว์

            5.3  คู่มือการจัดการฟาร์ม

            ผู้ประกอบการฟาร์มต้องมีคู่มือการจัดการฟาร์ม แสดงให้เห็นระบบการเลี้ยงการจัดการฟาร์มระบบบันทึกข้อมูลการป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ การดูแลสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยในฟาร์ม

            5.4  ระบบบันทึกข้อมูล

            ฟาร์มจะต้องมีระบบการบันทึกข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย

            5.4.1  ข้อมูลการลบริหารฟาร์ม ได้แก่ บุคลากร แรงงาน

            5.4.2  ข้อมูลจัดการผลิตได้แก่ ข้อมูลตัวสัตว์ ข้อมูลสุขภาพสัตว์ ข้อมูลการผลิตและข้อมูลผลผลิต

            5.5  การจัดการด้านอาหารสัตว์

            5.5.1  คุณภาพอาหารสัตว์

            -  แหล่งที่มาของอาหารสัตว์

            ก.  ในกรณีซื้ออาหารสัตว์ ต้องซื้อจากผู้ขายที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525

            ข.  ในกรณีผสมอาหารสัตว์เองต้องมีคุณภาพอาหารสัตว์เป็นไปตามกำหนดตามกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525

            -  ภาชนะบรรจุและการขนส่ง

            ภาชนะบรรจุอาหารสัตว์ควรสะอาด ไม่เคยใช้บรรจุวัตถุมีพิษ ปุ๋ยหรือวัตถุอื่นๆ ใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ สะอาด แห้ง กันความชื้นได้ ไม่มีสารที่จะปนเปื้อนกับอาหารสัตว์ ถ้าถูกเคลือบด้วยสารอื่นสารดังกล่าวต้องไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์

            -  การตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์

            ควรมีการตรวจสอบอาหารสัตว์อย่างง่าย นอกจากนี้ต้องสุ่มตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้ เพื่อวิเคราะห์คุณภาพและสารตกค้างเป็นประจำและเก็บบันทึกผลการตรวจวิเคราะห์ไว้ให้ตรวจสอบได้

            5.2.2  การเก็บรักษาอาหารสัตว์

            ควรมีสถานที่เก็บอาหารสัตว์แยกต่างหาก กรณีวัตถุดิบเป็นวิตามินต้องเก็บในห้องปรับอากาศ ห้องเก็บอาหารสัตว์ ต้องสามารถรักษาสภาพของอาหารสัตว์ไม่ให้เปลี่ยนแปลง สะอาด แห้ง ปลอดจากแมลงและสัตว์ต่างๆ ควรมีแผลงไม้ร้องด้านล่างของภาชนะบรรจุอาหารสัตว์

6.  การจัดการด้านสุขภาพสัตว์

            6.1  ฟาร์มจะต้องมีระบบเฝ้าระวังควบคุม และป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้รวมถึงการมีโปรแกรมทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าและออกจากฟาร์ม การป้องกันการสะสมของเชื้อโรคในฟาร์ม การควบคุมโรคให้สงบโดยเร็วและไม่ให้แพร่ระบาดอาหารสัตว์

            6.2  การบำบัดโรค

            1.  การบำบัดโรคสัตว์ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. 2505

            2.  การใช้ยาสำหรับสัตว์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้ยาสำหรับสัตว์ (มอก.7001-2540)

7.  การจัดการสิ่งแวดล้อม

            7.1  ประเภทของของเสีย

            ของเสียที่เกิดจากฟาร์มปศุสัตว์ จะประกอบด้วย

            7.1.1  ขยะมูลฝอย

            7.1.2  ซากสุกร

            7.1.3  มูลสุกร

            7.1.4  น้ำเสีย

            7.2  การกำจัดหรือบำบัดของเสีย

            ฟาร์มจะต้องจัดให้มีระบบกำจัดหรือบำบัดของเสียที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ข้างเคียง หรือสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

            7.2.1  ขยะมูลฝอย ทำการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยในถังที่มีฝาปิดมิดชิด และนำไปกำจัดทิ้งในบริเวณที่ทิ้งของเทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

            7.2.2  ซากสุกร ฟาร์มจะต้องมีการจัดการกับซากสุกรให้ถูกสุขลักษณะอนามัย

            7.2.3  มูลสุกร นำไปทำปุ๋ย หรือหมักเป็นปุ๋ยโดยไม่ทิ้งหรือกองเก็บในลักษณะที่จะทำให้เกิดกลิ่นหรือก่อความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยข้างเคียง

            7.2.4  น้ำเสีย ฟาร์มจะต้องมีระบบเก็บกัก หรือบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสมทั้งนี้น้ำทิ้งจะต้องมีคุณภาพน้ำที่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งที่กำหนด

 

Visitors: 396,522