ศาสตราจารย์ ดร.สุชีพ รัตรสาร “บิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของไทย” - วารสารเกษตรอภิรมย์

ศาสตราจารย์  ดร.สุชีพ  รัตรสาร บิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของไทย

ย้อนไปกว่า 30 ปีที่แล้ว วงการสุกรของไทยไม่มีใครไม่รู้จัก ศาสตราจารย์ ดร.สุชีพ รัตรสาร  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติและศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและระบบการเลี้ยงสุกรของไทยจากการเลี้ยงสุกรดั้งเดิมที่เลี้ยงสุกรพันธุ์พื้นบ้านไว้หลังบ้านด้วยเศษอาหารจากครัวเรือน ให้กลายเป็นอาชีพเลี้ยงสุกรที่เป็นธุรกิจได้อย่างกว้างขวางและมั่นคง ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาและก้าวหน้าจนเป็นระบบอุตสาหกรรมการผลิตสุกรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ประวัติโดยย่อ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชีพ  รัตรสาร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2466  ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา การศึกษาจบปริญญาตรีด้านกสิกรรมและสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทและเอกจาก Oregon State University, Corvallis ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทุนแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Oregon State University ได้รับปริญญา M.S. และ Ph.D. ทางด้านสัตวบาลและประกาศนียบัตรทางด้าน Agnculture Engineering

ด้านการทำงาน เริ่มเข้ารับราชการที่กองสัตวบาล กรมกสิกรรม บำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.2494 ต่อมาปี พ.ศ.2495 โอนมารับตำแหน่งอาจารย์ตรี คณะกสิกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ.2511 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพลศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ.2525 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี พ.ศ.2526 ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ ประถมาภรณ์ช้างเผือกในปี พ.ศ.2525

ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2527 รวมอายุราชการได้ 33 ปี และหลังเกษียณอายุราชการท่านได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ หน่วยงานต่างๆ และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2529 และ พ.ศ.2536 ท่านถึงแก่กรรม ปี พ.ศ.2538 ร่วมอายุได้ 72 ปี

“ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในวงการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย ตั้งแต่การวางรากฐาน การให้ความรู้ทางวิชาการ การแนะนำและสนับสนุนจนกิจการเลี้ยงสุกรกลายเป็นธุรกิจอย่างกว้างขวางและมั่นคง ท่านได้บำเพ็ญตนเป็นอาจารย์ที่ดีเสมอมา โดยได้ให้ความรู้และให้คำแนะนำไม่เฉพาะลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ได้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไปด้วย ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงเป็นที่รู้จัก เป็นที่รักเคารพและนับถือของทุกคนและตัวท่านเองก็ได้อุทิศเวลา ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิดให้แก่วงการเลี้ยงสัตว์มาโดยตลอด”

นี่เป็นคำกล่าวของ ดร.สงวน  จันทรานุกูล ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทศรีไทยปศุสัตว์ จำกัดในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สุชีพ  รัตรสาร เมื่อ พ.ศ.2538

นอกจากนี้ในมุมของผู้ที่เคยใกล้ชิดและเคยร่วมทำงานกับท่านมาในแต่ละช่วงของชีวิต ได้ลงความเห็นพ้องต้องกันว่าท่านไม่เพียงแต่เป็นผู้พัฒนาการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ามาถึงวันนี้จนได้รับการกล่าวขานยอมรับกันว่าเป็น “บิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของไทย” ท่านยังมีความพิเศษและความพร้อมในตัวหลายๆ ประการ ทั้งความเป็นครู นักวิชาการ นักพัฒนา นักส่งเสริม และนักประชาสัมพันธ์

บิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของไทย

ท่านมีความวิริยะ อุตสาหะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงการสุกรของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าในทุกรูปแบบ

·      บิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของไทย

“เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ขึ้นที่อำเภอกำแพงแสน สุชีพก็ได้ริเริ่มตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติขึ้นที่นั่น และเป็นศูนย์ที่ได้ทำคุณประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาการผลิตสุกรของประเทศไทย ถ้าจะพูดว่าสุชีพเป็นบิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของประเทศไทยก็เห็นจะไม่ผิดเขาเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง ถ้าทำอะไรแล้วก็อยากทำให้ดี ทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ เขาเป็นคนไม่ทะเยอทะยานในการที่จะเป็นใหญ่เป็นโต แต่มีความทะเยอทะยานที่จะสร้างงาน สร้างผลประโยชน์ให้กับส่วนรวมอยากเห็นส่วนรวมเจริญก้าวหน้า อยากเห็นเกษตรกรมีฐานะดีขึ้น นั่นคือนิสัยที่แท้จริงของเขา”

ข้อความข้างต้นเป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึง ศาสตราจารย์ ดร.สุชีพ รัตรสาร ในหนังสืองานที่ระลึกครบรอบ 60 ปี ศาสตราจารย์ ดร.สุชีพ  รัตรสาร เมื่อปี พ.ศ.2527

หลักฐานหนึ่งที่สามารถยืนยันเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนถึงการได้รับการยอมรับยกย่องอย่างสูงเกียรติจากสังคมถึงผลงาน ความสามารถ และการอุทิศตนเพื่อการพัฒนาวงการเลี้ยงสุกรของไทย สมควรอย่างยิ่งกับคำว่า “บิดาของการพัฒนาการผลิตสุกรของไทย” คือการได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2536 ดังคำประกาศเกียรติคุณนายสุชีพ  รัตรสาร วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) ต่อไปนี้

“นายสุชีพ  รัตรสาร ตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำเร็จปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางสัตวบาลจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา นายสุชีพ  รัตรสาร  เป็นผู้อุทิศตนในการวิจัยและค้นคว้าทุกแขนงวิชาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุกร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ได้จัดตั้งโครงการปรับปรุงพันธุ์สุกรของภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ จนกระทั่งจัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติในปัจจุบัน มีผลงานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์สุกร อาหาร และการให้อาหารในการจัดการเลี้ยงสุกร และศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคและพยาธิของสุกร การทำผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร การปรับปรุงโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรือน ตลอดจนการตลาดและสหกรณ์ด้วย จากผลงานที่ปรับปรุงพันธุ์สุกรและขยายพันธุ์สุกรพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรและหน่วยราชการ เป็นผลให้เกษตรกรในปัจจุบันใช้สุกรขุนแทนพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตสุกรขุนที่มีคุณภาพดีทัดเทียม อารยะประเทศและก่อให้เกิดธุรกิจการเลี้ยงสุกรจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีแม่สุกรจำนวนมากหลายหมื่นตัวและสามารถส่งเนื้อสุกรไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิจัยโดยนำวัสดุทางการเกษตร และผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรมาใช้เป็นอาหารสัตว์มากขึ้น เช่น กากเมล็ดยางพารา การปาล์มน้ำมัน กากส่าเหล้า ตลอดจนการมันสำปะหลัง เป็นต้น จากผลการวิจัยนี้ทำให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ทั้งขนาดกลางและใหญ่ เกษตรกรสามารถผสมอาหารใช้เองได้เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต และได้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรนับหมื่นคน เป็นผลให้เกษตรกรรายย่อยและบริษัทต่างๆ ได้ผลิตสุกรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้นายสุชีพเป็นผู้อุทิศเวลาเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย และฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตสุกรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 30 ปี เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานด้านสุกร ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตสุกรที่มีคุณภาพดีส่งไปต่างประเทศได้ สภมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีมติ ให้ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติสืบไป”

·  การส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร ท่านได้ดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพในการเป็นนักส่งเสริมการเกษตรอย่างยิ่ง

·  จัดทำโครงการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์สุกร การวิจัยและโครงการฝึกอบรมด้านสุกรแก่ผู้เลี้ยงสุกร

· จัดทำวารสาร สุกรสาส์น เพื่อเผยแพร่วิชาการด้านปศุสัตว์ ด้วยเห็นว่าในขณะนั้นไม่มีวารสารฉบับใดเลยที่พิมพ์เผยแพร่วิชาการด้านปศุสัตว์ ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างดียิ่ง นับได้ว่า “สุกรสาส์น” ได้กระตุ้นให้มีผู้สนใจจัดทำวารสารเผยแพร่วิชาการด้านปศุสัตว์ตามมา

·  ผลิตหนังสือ ตำรา เรื่อง “การเลี้ยงสุกร” สำหรับผู้เลี้ยงสุกรเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานฟาร์ม

· ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงสุกรรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ เพื่อการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงสะดวกต่อการเข้าไปช่วยเหลือของทางราชการทั้งด้านสินเชื่อและการตลาด โดยท่านเป็นที่ปรึกษาและวิทยากร ทำให้เกิดสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในหลายจังหวัดทุกภูมิภาครวมทั้งชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย

·      ริเริ่มให้มี “สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรครบวงจร” เพื่อให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรมีโรงงานอาหารสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสุกรเป็นของตนเอง โดยได้นำเสนอความคิดผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานระดับจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค

·ช่วงเกษียณอายุราชการท่านยังรับเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและได้เขียนหนังสือ “สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย” รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพ เนื้อหา ความสม่ำเสมอของ “วารสาร สันนิบาตสหกรณ์ ยุคหยาดพิรุณ

   ด้านการศึกษา

· ในบทบาทอาจารย์ปกครองนิสิต ท่านปรับปรุงงานกิจการนิสิตให้มีระบบและแบบแผนที่ดีทั้งในด้านความเป็นอยู่ สวัสดิการ และกิจกรรมต่างๆ ท่านดูแลปกครองนิสิตด้วยความเมตตาปราณีและจริงใจ แต่จะเฉียบขาดกับนิสิตที่ทำตัวไม่เหมาะสม จนถูกขนานนามว่า “LAW MAN” หมายถึงผู้รักษากฎหมายที่อุทิศตนให้แก่งานโดยมีเป้าหมายที่ความสงบสุขของสังคม

·  จัดทำโครงการพัฒนากีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผลให้การกีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก้าวหน้ามาอยู่ในแนวหน้า คือ ชนะเลิศกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยเกือบทุกประเภท

·ริเริ่มและก่อตั้งภาควิชาพลศึกษาสำเร็จและเป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก ช่วยผลักดันให้การกีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ในระดับที่โดดเด่น จึงเปรียบท่านเป็น “บิดาพลศึกษา มก.”

·   บุกเบิกสถานีทดลองทับกวาง จังหวัดสระบุรี ซึ่ง ณ ขณะนั้นตั้งอยู่ในป่า ห่างไกลความเจริญ ทำให้สถานีแห่งนี้มีประโยชน์ทั้งต่อนิสิตและเกษตรกร ปัจจุบันคือสถานีวิจัยทับกวางซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานีวิจัยและฝึกงานด้านสัตว์แห่งแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร

   ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องเรือหางยาว

   ท่านและญาติ (พลโทสุบิน  รัตรสาร) ได้คิดประดิษฐ์เครื่องเรือหางยาวขึ้นในราวปี พ.ศ.2491-2492 เนื่องมาจากท่านต้องนำเชื้อเห็ดฟางไส่งและเยี่ยมเยียนลูกค้าตั้งแต่ซอยเสนานิคมถึงคลองรังสิตและคลองบางกะปิ จึงได้คิดทำเรือเครื่องขึ้นใช้โดยดัดแปลงจากเครื่องสูบน้ำเป็นต้น กำลังในการฉุดใบพัดซึ่งต่อเพลาให้ยาวลงไปจุ่มน้ำนำไปติดกับเรือแจวซึ่งเป็นเรือขุดในสมัยนั้น ปรากฏว่าใช้ได้ดีมาก ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2527 ท่านและคุณสุบิน ได้รับรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นอกจากนี้ท่านยังมีส่วนร่วมในการดัดแปลงเครื่องสูบน้ำเทพฤทธิ์ด้วย

    โดย กองบรรณาธิการ วารสารเกษตรอภิรมย์ คณะเกษตร กำแพงแสน

Visitors: 395,743